วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
ปัญหามีไว้ให้แก้
“ปัญหามีไว้ให้แก้”
ดร.พงษ์ศักดิ์ สวัสดิเกียรติ
ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ม.เกษตรศาสตร์
กรรมการบริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการพิสิษฐ์กรุ๊ป
11 กุมภาพันธ์ 2555
ผมเขียนบทความนี้ก่อนวันวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นวันที่ระลึกถึง เซนต์วาเลนไทน์ ไม่ใช่วันแห่งความรักเพราะว่าวันแห่งความรักควรจะมีทุกวัน และทุกปีที่ก่อนวันวาเลนไทน์ก็จะมีหน่วยงานต่างๆทั้งรัฐเอกชน ออกผลสำรวจว่าจะมีวัยรุ่นเสียตัวเท่านั้นเท่านี้ สถานที่เสียตัวที่ไหน ฯลฯ แถมหน่วยงานรัฐยังแจกถุงยางฟรีอีก เอาเข้าไปประเทศนี้มีคนสองแบบ คือ แบบที่ว่าเอาแต่บ่นว่าปัญหาโน่นนั่นนี้แต่ไม่ได้นำเสนอวิธีแก้ไขโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่จะต้องทำหน้าที่แก้ไข กับแบบว่าแก้ไขปัญหาแบบไม่แก้ปัญหาคือว่าขอให้ได้ทำอะไรบางอย่างที่(ดูเหมือน) แก้ไขปัญหา ทั้งๆที่จริงแล้วยิ่งจะไปทำให้เกิดปัญหามากขึ้นเสียอีกลองดูซิครับว่าถ้าวัยรุ่นเค้ามีป๊อบปี้เลิฟบ้างตามประสา (ทุกคนคงเคยผ่านวัยรุ่นและมีความรู้สึกอย่างนี้มาบ้างแล้ว) ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติตามวัย แต่กลับไปนำเสนอว่าเสียตัววันวาเลนไทน์เป็นจำนวนมาก อย่าลืมนะครับสังคมเราเป็นอุปทานหมู่อยู่ยิ่งบริโภคข่าวสารแล้วไม่ตรองนี่ยิ่งไปกันใหญ่ ดีไม่ดีอาจจะนำไปปฎิบัติเสียเลยจะได้เหมือนกับคนส่วนใหญ่ เรียกว่าทำตามคนส่วนใหญ่ (แล้วไม่ผิด??)
ผมเพิ่งเดินทางไปโฮจิมินปกติก็จะมีบัตรเอเปคมีช่องทางพิเศษในการตรวจคนเข้าเมืองก็ไม่เดือดร้อนอะไรมาก แต่พอดีบัตรหมดอายุอยู่ในระหว่างต่ออายุบัตรเลยต้องเข้าช่องทางปกติซึ่งขณะนี้ที่ขาออกกำลังปรับปรุงอาคารทำให้ต้องแออัดและต่อแถวยาวมากๆ ปัญหามันอยู่ตรงที่ทำไมไม่ทำแถวเป็นแบบแถวเดียวคดเคี้ยวเป็นงูเหมือนบ้านอื่นเมืองอื่นเขากัน นึกออกหรือไม่ครับหากใครไปเจอนักเดินทางที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตรวจก็จะต้องรอนานเป็นพิเศษ แถมถ้าไปเจอเจ้าหน้าที่มือใหม่หัดขับหรือประมาณว่าช้าๆได้พร้าเล่มงามละก็แถวไม่ไปไหนเลยยิ่งหงุดหงิดไปใหญ่ในขณะที่แถวข้างๆเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว แต่ว่าถ้าเป็นแถวเดี่ยวแล้วยังไง??มันจะเคลื่อนตลอดเวลาสมมุติว่ามี 10 ช่องตรวจ หรือยิ่งมีมากช่องตรวจแถวก็จะขยับเร็วขึ้นๆ มันเหมือนกับว่าเวลาที่รอนั้นมันน้อยลงเพราะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ผมว่าผู้บริหารของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองต้องเคยเดินทางไปดูงานมาแล้วมากมายหลายประเทศทำไมแค่นี้คิดไม่ได้ก็ไม่รู้นะครับ เสียเวลา เสียเงินทองไปดูงานเปล่าๆ หรือหากยังไม่เข้าใจไปที่เมเจอร์สาขาไหนก็ได้ครับตรงที่เขาขายตั๋วดูหนังนะแล้วนำมาปรับปรุงหน่วยงานของท่านเสีย
แล้วเรามีวิธีการแก้ไขปัญหากี่แบบละครับรอสักครู่จะได้เรียนให้ท่านทราบ เดี๋ยวจะหาว่าผมเอาแต่ปัญหามาบ่นให้ท่านทราบแต่ไม่เสนอแนวทางแก้ไขเหมือนนักการเมือง ดีแต่บ่น ดีแต่พูด ดีแต่วิจารณ์ ไม่เสนอแนวทาง วิธีการ และ ปฏิบัติให้ดูไม่ได้ วิธีการในการแก้ไขปัญหามี 6 วิธีดังนี้ครับ
1.แก้ตามความเคยชิน เรียกว่าเคยทำอย่างไรมาก็ทำอย่างนั้น บางเรื่องก็ไม่ผิดครับหากองค์ประกอบของปัญหามันเหมือนเดิม สภาพแวดล้อมเหมือนเดิม ง่ายๆเช่นรถติดมากไปประชุมไม่ทัน โดดลงจากรถแท็กซี่แล้วเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างไป
2.แก้โดยอาศัยประสบการณ์ คือว่าถ้าใครมีประสบการณ์มากๆ และหากนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของปัญหา ก็น่าจะสามารถแก้ปัญหานั้นได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์ ดังนั้นควรต้องแสวงหาประสบการณ์ ทั้งจากการ ดู ฟัง แต่ต้องคิด และลองทำดูด้วยถึงจะดี ไม่จำเป็นต้องเป็นแต่เพียงประสบการณ์จากการทำแต่เพียงอย่างเดียว ผมมักจะพูดให้กับนักศึกษาฟังอยู่บ่อยครั้งว่าอย่าสักแต่เรียนให้เพียรหาประสบการณ์ ฝึกคิดเขียน อย่างเพียรแต่ท่องจำแต่ทำไม่เป็น
3.แก้โดยการเลียนแบบผู้อื่น ไม่ผิดหรอกครับที่จะแก้ตามแบบของคนอื่นที่เชื่อได้ว่าจะแก้ไขปัญหาได้ ก็ดูเรื่องต่อแถวที่ตรวจคนเข้าเมืองข้างต้นครับ ลอกแบบเขามาเลยไม่เห็นจะยากอะไร
4.แก้ตามอารมณ์ และความพอใจของตนเอง หรือตามวิจารณญาณของตนเอง แต่ก็ต้องพิจารณาให้ดีถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วยว่าจะมีผลอะไร เช่น หากเป็นเจ้าของโรงงานแล้วเอาแต่ใจตนเองไม่ฟังลูกน้องก็ได้แต่พระเดชไม่มีพระคุณ เร็วๆนี้ผมได้รับการติดต่อจากผู้บริหารท่านหนึ่งให้ช่วยไปอบรมและพัฒนาพนักงาน ให้รักองค์กรและช่วยทำงานเพราะว่าช่วงนี้รับงานมาล้นมือแต่ว่าสั่งให้พนักงานทำล่วงเวลาโดยจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มจากที่กฎหมายกำหนดแต่ก็ไม่มีพนักงานยอมทำ ผมบอกไปว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการสร้างไม่ใช่ให้ผมไปอบรม สองสามครั้งแล้วพนักงานจะรักและทุ่มเทให้องค์กรนะครับ ที่สำคัญผมบอกไปว่าเรื่องอย่างนี้ต้องซื้อด้วยใจ ไม่ใช่ซื้อด้วยเงินเพราะเงินไม่สามารถซื้อได้ทุกสิ่ง แต่ในบางสถานการณ์ก็จำเป็นต้องใช้แนวทางในการแก้ไขปัญหาแบบนี้ เช่นในทางทหารอาจจะต้องพิจารณาสั่งการเพราะเวลาตัดสินใจมีน้อย ไม่อาจจะมาร่วมประชุมกันและหาข้อสรุปว่าจะสั่งบุกหรือถอย หรือจะไปทางซ้ายหรือขวาดี
5.แก้ตามคำแนะนำของคนอื่น หากเรื่องนั้นๆมีผู้รู้หรือมีประสบการณ์ให้คำแนะนำที่เราคิดว่าเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหา ก็ไม่แปลกที่เราจะนำไปปฎิบัติแต่ก็ต้องใช้การพิจารณาให้รอบคอบด้วยหรือนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของปัญหาของเรา ไม่ใช่ทำตามคำแนะนำนั้นแบบไม่ลืมหูลืมตา
6.แก้ตามข้อสรุปของส่วนรวม วิธีนี้เชื่อได้ว่าน่าจะดีที่สุดเพราะเป็นข้อสรุปของคนหลายคน หลากหลายความคิด ประสบการณ์ องค์ความรู้ มีเกมส์อยู่เกมส์หนึ่งซึ่งแบ่งผู้เล่นเป็นกลุ่มๆกี่คนก็แล้วแต่ แล้วสมมุติสถานการณ์ว่าติดเกาะ มีอุปกรณ์ประมาณ 20 ชิ้นให้แต่ละคนระบุว่าชิ้นได้สำคัญที่สุดต่อการดำรงชีพในการติดเกาะ(เป็นเวลานานๆ) เรียงลำดับมาจนถึงความสำคัญน้อยที่สุด เสร็จแล้วให้ทำเป็นกลุ่มร่วมกันหารือและสรุปแบบเดียวกับทำเป็นรายบุคคล แล้วนำมาเทียบเคียงกับคำเฉลยซึ่งเป็นคำตอบของนักเดินป่า นักสำรวจ ฯลฯซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญปรากฏว่าคำตอบที่เป็นของกลุ่มนั้นจะได้คะแนนมากกว่า ทำกี่ครั้งๆก็จะเป็นเช่นนี้ เห็นหรือไม่ครับแม้ว่าทุกคนไม่เคยติดเกาะ ไม่เคยเป็นนักสำรวจ นักเดินป่า ไม่มีประสบการณ์ใดๆทั้งสิ้น แต่พอมาสุมหัวร่วมกันคิดกลับทำได้ดีกว่าทำคนเดียว
ผมมีโอกาสไปเรียนที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรในหลักสูตร สวปอ.มส. ในรุ่นที่ 3 ได้มีโอกาสสนทนากับนายทหารท่านหนึ่ง ขออนุญาตเรียกว่าท่านผู้การเพราะเหตุที่จะเล่านี้เกิดตอนท่านเป็นผู้การเรือรบ ในระหว่างกลับจากการฝึกครั้งหนึ่งท่านแอบไปได้ยินมาว่าลูกน้องของท่านซึ่งมีภรรยาคลอดลูกแต่หากเดินเรือด้วยความเร็วที่ผู้การกำหนดจะทำให้ถึงท่าเรื่อช้าและไม่ทันต่อรถยนต์กลับภูมิลำเนาไปพบหน้าลูกเมีย ถ้าเป็นผู้การคนอื่นๆก็คงไม่กระไรแต่ท่านผู้การท่านนี้สั่งเพิ่มความเร็วเรือเพื่อให้ถึงเร็วและให้ทันรถเมล์ที่ลูกน้องจะได้เดินทางไปพบลูกเมียได้เร็วขึ้น (แค่ 1 วัน) แบบนี้คงไม่ต้องไปฝึกอบรมลูกน้องให้ช่วยกันทำงาน หรือมีใจให้องค์กร เหมือนกับผู้บริหารโรงงานที่กล่าวไว้ข้างต้นเพราท่านผู้การได้ใจลูกน้องไปเต็มร้อย “ แก้ปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหา” นี่ก็ใกล้หน้าน้ำเข้ามาอีกแล้วเห็นแต่ละนิคมอุตสาหกรรมพากันสร้างเขื่อนกำแพงกั้นน้ำโดยลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่น้อย แต่ลองนึกเล่นๆนะครับว่าถ้าหากมวลน้ำมากเท่าปีที่แล้ว หรือมากกว่าปีที่แล้วแน่นอนนิคมอุตสาหกรรมไม่จมน้ำแต่ แต่...... แต่....... มวลน้ำจะไปไหนจะท่วมบ้านเรือนผู้คนอื่นที่อยู่รอบๆนิคมฯมากกว่าเดิมหรือไม่ และ ถ้าน้ำล้อมรอบคนงานจะมาผลิตได้อย่างไร ?? วัตถุดิบจะมาถึงโรงงานได้อย่างไร?? ผลิตเสร็จแล้วจะส่งให้กับลูกค้าได้อย่างไร ?? อ้อ....แล้วจะผลิตได้หรือไม่เพราะว่าไฟฟ้าไม่มี ?? เพราะวิธีแก้นี้เป็นแค่เพียงป้องกันความเสียหายที่น้องน้ำจะมาทำลายเครื่องจักร วัตถุดิบ และสินค้า ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แล้วอะไรคือวิธีการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง......... ง่ายๆแค่ทำตามที่ในหลวงทรงรับสั่งแนะนำ.........แต่ไม่มีใครทำเลยทั้งๆที่ท่านได้รับสั่งไว้เป็นสิบๆปีแล้ว..........กรรมจริงๆประเทศไทย.!!!!!!!
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
ขายรัย...ทำไมเราอิน (มาก)
เครดิตภาพจาก "เฟสบุคไทรสุก" สองอาทิตย์ก่อนไปเห็นน้องคนหนึ่งที่เป็...
-
จุดศูนย์กลางการบินในแต่ละภูมิภาค (HUB) นั้นสามารถสร้างรายได้และสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศนั้นได้อ...
-
ทุกๆสี่ปีจะมีการแข่งขันฟุตบอลโลกซึ่งเป็นกีฬาที่มีคนเผ้าติดตามมากที่สุดในโลก การแข่งขันฟุตบอลถือเป็นรายการโทรท...
-
CR : Ski and Snowboard Association of Thailand เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองและบิ๊กป้อมใดๆทั้งสิ้น เพราะว่าลุงแกตกยุค...