วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

“คุ้มหรือไม่คุ้ม”

“คุ้มหรือไม่คุ้ม” 22 พฤษภาคม 2555

ดร.พงษ์ศักดิ์ สวัสดิเกียรติ
ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ม.เกษตรศาสตร์
กรรมการบริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการพิสิษฐ์กรุ๊ป


                      ผมเขียนบทความนี้ในวันรุ่งขึ้นที่บอร์ดการบินไทยปลดดีดี หรือผู้จัดการใหญ่สุดของการบินไทย ด้วยข้อหาอะไรก็แล้วแต่นั่นคงเป็นเรื่องภายในระหว่างบอร์ดกับดีดี แล้วก็มีข่าวว่าดีดีคนนี้สามารถทำกำไรให้กับบริษัทได้ในสองปี ผมจำได้ว่าตอนที่หุ้นการบินไทยประกาศขายหุ้นเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์คนไทยเราแห่กันไปจองเหมือนกับยุคตื่นทอง ถ้าจำไม่ผิดราคาตอนเสนอขายอยู่ที่ 60 บาทแต่พอเข้าตลาดขาดทุนกันเป็นแถวทำให้เราเห็นสัจธรรมว่า ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน เข้าไปเปิดข้อมูลงบการเงินในเว็บไซท์ของตลาดหลักทรัพย์ดูก็จะพบข้อมูลดังนี้



                       ปี 2551       2552         2553          2554 (หน่วย: ล้านบาท)
รายได้            202,605      163,874    184,270     194,525
กำไร               -21,379       +7,343    +15,349      -10,196

              รวมสี่ปีจะพบว่ามียอดสะสมผลประกอบการที่ -8,883 ล้านบาท ถ้าหารด้วยสี่ปี ก็ตกลงว่าขาดทุนปีละ -2,220.75 ล้านบาท (ซึ่งตามหลักการบัญชีคิดแบบนี้ไม่ได้ ) ราคาหุ้นเมื่อวาน 21 พฤษภาคม 2555 ราคา 22.80 บาท เทียบจากตอนเข้าตลาดที่ 60 บาท ถ้านับเป็นผลประกอบการบริษัทธรรมดาก็คิดว่าน่าเป็นห่วงว่าจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างไร อันนี้ไม่แปลกครับเพราะเราก็เห็นกันอยู่บ่อยๆว่าสายการบินแห่งชาติหลายๆประเทศก็ต้องประสบภาวะการขาดทุนสะสมเป็นเวลานา ไม่ว่าจะเป็นสวิสแอร์ แจแปนแอร์ไลน์ ซึ่งมาตราฐานการป้องกันคอรัปชั่นดีกว่าบ้านเราหลายกระบุงยังอยู่ไม่ได้ ไม่ต้องไปเทียบกับฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ ซึ่งมาตรฐานการคอรัปชั่นคงสูสีกับบ้านเรา แต่พอกลับมาดูโลว์คอสแอร์ไลน์( LOW COST AIRLINE) ซึ่งเจ้าของคงอยากให้เรียกว่าบัดเจ็ทแอร์ไลน์ (BUDGET AIRLINE )มากกว่า เพราะชื่อแรกมันดูไม่มีชาติตระกูลยังไงชอบกล เราจะพบว่ามีแต่กำไร กำไร และกำไร ทั้งๆที่ขายตั๋วราคาถูกมากแน่นอนว่าความสะดวกสบายและการบริการมันไม่เท่าสายการบินทั่วไป แต่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์หลักของการใช้บริการสายการบินได้ “คือการพาเราเดินทางไปยังจุดหมายที่ต้องการ” แต่ความสบาย และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายเป็นบริการเสริม (ที่เราต้องจ่ายตัง) ก็เลยอยากรู้ว่าจริงๆแล้วสายการบินเหล่านี้ผลประกอบการเป็นอย่างไร ก็มีพอให้เทียบเคียงเพราะพอดีว่าอีกไม่กี่วันบริษัทเอเชียเอวิเอชั่นจำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ฝ่ายไทยในสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” โดยถืออยู่ 51% จะเข้าตลาดหลักทรัพย์เลยลองเข้าไปดูงบการเงินของ ไทยแอร์เอเชียซึ่งมีงบให้ดูแค่สองปี งบการเงินมีดังนี้


                          ปี 2553                2554 (หน่วย : ล้านบาท)
รายได้               12,098                 16,157
กำไร                  2,011                    2,020

                 ซึ่งไปค้นหาข้อมูลต่างๆเราจะพบว่า ยอดผู้โดยสารประมาณ 7 ล้านคนและมียอดรายได้นอกเหนือจากค่าตั๋วโดยสารเพิ่มจากเดิม คนละ 100 บาท เพิ่มเป็นคนละ 300 บาท เมื่อคูณกับผู้โดยสาร 7 ล้านคน ก็จะได้ 2,100 ล้านบาท ตัวเลขนี้ก็จะใกล้เคียงกับยอดกำไร ที่ 2,020 ล้านบาท แปลว่าอะไรมันอาจจะหมายถึงว่าสายการบินไทยแอร์เอเชียขายตั๋วให้คุ้มกับต้นทุนในการบิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง แล้วพยายามขายสินค้า บริการอื่นๆ เพื่อให้เป็นผลกำไรถ้าขายของหรือบริการได้มากขึ้นก็เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นกำไรสุทธิเลยทีเดียว (ซึ่งแอร์คงได้ค่าคอมไม่มากก็น้อย) นอกจากนั้นแล้วการบริหารต้นทุนในการบินนั้นสำคัญยิ่ง ได้มีโอกาสคุยกับท่านผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ นอ.ธนภัทร งามปลั่ง ก็พบว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่เดียวเลย เรื่องแรกก็คือการใช้เครื่องบินทั้งฝูงเป็นรุ่นเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกันคือ แอร์บัส 320 ไม่ใช่แค่เฉพาะไทยแอร์เอเชีย ยังรวมไปถึงแอร์เอเชีย และอินโดนีเซียแอร์เอเชีย รวมแล้วไม่รู้กี่เครื่อง แน่นอนการที่มีเครื่องรุ่นเดียวกันตอนซื้อก็มีอำนาจต่อรองราคา ต้นทุนการซ่อมบำรุง อะไหล่ ฯลฯก็จะถูกกว่าการมีเครื่องบินที่หลากหลาย แต่การบินไทยทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำเพราะอะไรก็คงเดากันได้ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมด้วยเพราะการบินไทยมีเส้นทางการบินที่หลากหลาย ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะไกล ก็คงต้องใช้เครื่องบินที่หลากหลายเหมาะสมกับระยะทางการบิน แต่โลว์คอสจะบินในระยะสั้นไม่เกิน สองสามชั่วโมงซึ่งเติมน้ำมันครั้งเดียวบินไปกลับได้เลย ซึ่งการบินไทยก็ไม่จำเป็นต้องหลากหลายขนาดนับรุ่นกันไม่ครบแบบเช่นในปัจจุบัน นอกจากนี้แล้วทราบมาว่าเครื่องบินล๊อตใหม่ที่กำลังจะเข้าประจำการนั้นเบาะที่นั่งน้ำหนักจะลดลงไปที่นั่งละ 5 กิโลกรับ ประมาณ 200 ที่นั่ง ก็ทำให้น้ำหนักเครื่องลดลงไปประมาณ 1,000 ก.ก. ซึ่งจะทำให้ประหยัดน้ำมันได้อีกยิ่งในยุคน้ำมันแพงแล้วละก็เห็นน้ำเห็นเนื้อเลยหละครับ
      
                     และที่เราเห็นว่ามีการโปรโมชั่น 99 บาทบ้าง 199 บาทบ้าง มีจริงครับแต่ว่าในแต่ละเที่ยวบินนั้นเข้าคำนวณแล้วว่าถ้ามีผู้โดยสาร X เปอร์เซ็นต์ สมมุติว่าเฉลี่ย 80 เปอร์เซ็นต์ และต้นทุนการบินเป็นเท่าไหร่ ก็นำมาหารเฉลี่ยเป็นค่าตั๋ว (อันนี้คิดแบบตรรกะเองนะครับ) สมมุติว่า 500,000 บาท หารด้วย 200 ที่นั่ง ก็ตกที่นั่งละ 2500 แต่ก็จะนำมาขายราคา 99 บาทส่วนหนึ่ง 199 บาท ส่วนหนึ่ง และราคาต่างๆกันไป แต่เมื่อรวมแล้วได้ 500,000 บาท ทำให้บินแต่ละครั้งไม่ขาดทุน แล้วมาหาผลกำไรจากการขายสินค้า และบริการต่างๆ เช่น อาหาร โรงแรม การท่องเที่ยว ค่าโหลดกระเป๋า ฯลฯ จนทำให้รายได้นอกเหนือจากค่าตั๋วตกคนละ 300 บาท 7 ล้านคน ก็ใกล้เคียงกับผลกำไรที่ 2 พันล้านบาทที่กล่าวข้างต้น แต่ไม่ว่าจะขายตั๋วราคาเท่าไหร่จนถึงราคาสูงสุดของแต่ละเที่ยวบินแล้วก็ยังราคาถูกกว่าสายการบินปกติอยู่จนทำให้เกิดแรงจูงใจในการใช้บริการ



          นี่เห็นมีโปรโมชั่นใหม่อีกแล้วแต่ต้องเดินทางปีหน้าเป็นต้นไปตั้งแต่ 4 มกราคม -22 พฤษภาคม 2556 ราคาตั๋วเริ่มต้น 0 บาท จำนวน 1 ล้านใบ ของฟรีมีที่ไหน 555 มี่ที่นี่ครับแต่ว่ามีกี่ที่นั่งที่ราคา 0 บาทไม่บอก สุดท้ายจากสมมุติฐานว่า จากจำนวนผู้โดยสาร 7 ล้านคนเฉลี่ยแล้วตกประมาณเดือนละ 5.8 แสนคน จากมกราถึงพฤษภาปีหน้ารวมเวลา 5 เดือน(เว้น 1-3 มกราเพราะผู้โดยสารเต็มอยู่แล้ว สุดยอด....) คำนวณแบบง่ายๆว่าน่าจะมีผู้โดยสาร 2.9 ล้านคน สมมุติว่ามีคนจองซัก 10% ก็เท่ากับ 2.9 แสนคน คิดง่ายๆว่า 3 แสนคน ถ้าราคาค่าโดยสารเฉลี่ยคนละ 1500 บาท ก็จะได้เงินสดมาก่อนล่วงหน้า 450 ล้านบาท แต่ตามโปรโมชั่นบอกว่ามี 1 ล้านใบเอาแค่ว่าถ้ามีคนจอง 5 แสนใบ คนละ 1500 บาท ก็จะได้เงิน 750 ล้านมานั่งนับเล่นเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี ตัวเลขเหล่านี้เป็นการสมมุตินะครับเพราะข้อเท็จจริงคงไม่มีใครมาบอก แต่ให้ท่านได้เห็นถึงแนวคิดและวิธีการบริหารให้เกิดผลกำไร ไม่ใช่ว่าบริหารไปวันๆเรื่อยๆเหนื่อยก็พักเหมือนสายการบินไทย ที่ไม่รู้ว่าตอนนี้พยายามเป็นสายการบินสีเขียวหรือเปล่า เพราะเมื่อเดือนก่อนไปใช้บริการทีวีส่วนตัวไม่มีให้ดูไม่ว่ากัน แต่ภาพยนต์บนจอใหญ่ทั้งเที่ยวไปเที่ยวกลับ เป็นสีเขียวหมดเลยครับเหมือนดูหนังที่ถ่ายในความมืดแล้วจอเขียวนึกออกมั๊ยครับพี่น้อง สอบถามพนักงานว่าจอภาพมันเสื่อมแล้วไม่มีอะไหล่โอ๊ยจะบ้าตาย “สายการบินแห่งชาติ” มิน่าปีที่แล้วถึงขาดทุนไปหมื่นล้านบาท ในขณะที่ไทยแอร์เอเชียกำไรสองพันกว่าล้าน โดยที่รายได้น้อยกว่าถึง 10 เท่าเศษ คงตอบได้แล้วนะครับว่าใครคุ้มหรือไม่คุ้ม...............

บอลข่าน ย่านสงคราม

  บอลข่าน   ย่านสงคราม 26 เมษายน 25678             ช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมาผมได้ลางานมากที่สุดในประวัติการทำงานของผม   คือลางานทั้...