วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2563

POST COVID ปิด ? หรือ เปิด ??



                “ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก !!  ผมคงไม่ก้าวล่วงไปเทียบกับ สงครามโลกครั้งที่สองเพราะว่าเกิดไม่ทัน  คงขอเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้ประสบมากันจริงๆในชัวชีวิตผมก็แล้วกันครับ  ซึ่งคงมีเหตุวิกฤติทางเศรษฐกิจอยู่สามครั้ง
                ครั้งแรกตอนลดค่าเงินบาทในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม  ติณสูลานนท์ ซึ่งหลายคนคงจำว่าเกิดเหตุการณ์ในปี 2527  แต่จริงๆแล้วได้ลดมาสองครั้งก่อนหน้าแต่ว่าอัตราการลดไม่มากนักจึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก นัก  คือ ในเดือน พฤษภาคม 2524  และ เดือน กรกฏาคม ปี 2524   แต่ในเดือน พฤศจิกายนในปี 2527 เป็นการลดค่าเงินจากเดิม 23 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 27 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็นการลดค่าเงินบาทถึง ร้อยละ 15  การลดค่าเงินในครั้งนี้นับเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนครั้งที่สำคัญในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง  เพราะสามารถทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ  และยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงในระยะยาว    แต่แน่นอนว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นย่อมต้องได้รับผลกกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำธุรกิจนำเข้า  ต้องเสียหายและบริษัทล้มละลายเป็นจำนวนมาก
                ครั้งที่สองในปี  2540  ซึ่งมีการลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่  2 กรกฏาคม 2540  ทีเราเรียกวิกฤตินี้ว่า “ต้มยำกุ้ง”  เพราะเริ่มต้นที่ประเทศไทย ขยายไปทั่วเอเชีย  แม้แต่เกาหลีใต้ก็ยังไม่พ้นจากบ่วงวกฤตินี้  ทำให้ค่าเงินบาท จาก  25 บาท เป็น  52 บาท เรียกได้ว่าคนที่มีหนี้สกุลเงิน สหรัฐอเมริกาจะมีหนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัวชั่วข้ามคืน  ทำให้ธุรกิจทั้งหลายล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินต้องถูกต่างชาติเข้าครอบครองกิจการ  บริษัทที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ถูกขายหนี้ให้กับกิจการของต่างชาติในราคาถูกแสนถูก  เพราะเราไม่ฉลาดพอในการทำสัญญากู้เงินกับไอเอ็มเอฟ   แต่ในครั้งนั้นเศรษฐกิจของโลก  ของประเทศคู่ค้าหลัก  ยังไม่มีผลกระทบยังคงเติบโตมากน้อยต่างกันตามศักยภาพของแต่ละประเทศนั้น   ซึ่งผมขอเปรียบว่าเหมือนกับโรงงานเราไฟไหม้ต้องวิ่งไปกู้หนี้ยืมสินจากทุกภาคส่วน  เพื่อมาสร้างโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักรใหม่  เริ่มกระบวนการผลิตและส่งขายลูกค้าทั่วโลกที่ยัง  “มีกำลังซื้อ”  ซึ่งอันนี้สำคัญมากๆๆ  เพราะเมื่อเราขายของได้ก็มีกำไรมาจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นที่กู้หนี้ยืมสินมา  ระยะเวลาหนึ่งเราก็สามารถปลอดหนี้มีเงินเก็บ  ใช้ชีวิตตามปกติเสวยสุขกับความสำเร็จอย่างประมาท.....................จวบจน  “โควิด-19” หายนะมาเยือนประเทศไทย  และ โลก........ของเรา
                ครั้งที่สามคือในปี  2563 นี้เราคงค้นพบสัจธรรมอยู่อย่างหนึ่งว่าการใช้ชีวิตด้วยความประมาท  และยินดีกับความสำเร็จเก่าๆ  ตลอดจนฝากชีวิตและธุรกิจไว้กับสินค้าตัวเดีย  อุตสาหกรรมเดียว  ลูกค้ากลุ่มเดียว  นั้นมันเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง   วันนี้เราคงเทียบเคียงได้ว่า  “ทุกประเทศเกิดไฟใหม้”  และ แน่อนว่าอนาคตอันสั้นคงไม่มีกำลังซื้อ หรือ ขาดกำลังซื้อกันทั่วโลก  โดยไอเอมเอฟประมาณการว่าในปี 2563 นี้เศรษฐกิจโลก จะติดลบ -3 % โดยไทยเราจะติดลบ – 6 %  เรียกได้ว่าลบกันทั้งโลก มีไม่กี่ประเทศที่เติบโตเป็นบวกแต่ก็น้อยมาก โดยเฉพาะคู่ค้าใหญ่ของเราคือ จีน จะเติบโตเพียง 1.2 % เท่านั้นจากที่เคยเติบโตถึงสองหลัก หรืออย่างน้อย 7-8 % ในช่วงปีหลังนี้    นั่นแสดงว่าแม้ว่ากิจการที่ไม่ล้มละลายไปในช่วงโควิดนี้แม้จะดำเนินกิจการต่อไปได้ก็จะไม่สบายเหมือนเมื่อก่อนนี้   เพราะลูกค้าจะซื้อของน้อยลงเพราะทุกประเทศขาดกำลังซื้อ  หรือกำลังซื้อลดลง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสินค้าที่ไม่จำเป็น  หรือ มีความจำเป็นน้อยลง  ในเมื่อมีเงินจำกัดก็ต้องเลือกใช้จ่ายตามความจำเป็นเฉพาะหน้าเป็นสำคัญ  สินค้าที่ฟุ่มเฟือยหรือเกินควาจำเป็น หรือ รอได้ ก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงกว่าสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป...........
                ธุรกิจหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ “ท่องเที่ยว”  และ อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง  เช่น  สายการบิน  โรงแรม  รถทัวร์  มัคคุเทศน์  ร้านอาหาร (ที่พึ่งนักท่องเที่ยวเป็นหลัก)  ฯลฯ  แม้โควิด19จะผ่านไปคงต้องใช้เวลานานพอสำควรกว่าจะกลับมารุ่งเรื่องเหมือนในอดีตได้อีก  เพราะแม้ว่าจะเปิดให้เดินทางท่องเที่ยวได้แล้วแต่กำลังซื้อที่ขาดหายไป  ความจำเป็นในการใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยวเพราะว่ามีเงินจำกัด   และอารมณ์ตลอดจนการกลัวการติดเชื้อ หรือ โรค ต่างๆ  คงจะยังฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของนักท่องเที่ยวที่แม้จะมีเงินแต่ก็กล้าน้อยลงที่จะตระเวนเที่ยวแบบไม่ระมัดระวังอย่างแต่ก่อน  
                มาวันนี้ 27 เมษา 2563  เราได้เห็นความแตกต่างกันของสองสายการบิน คือ  การบินไทย กับ แอร์เอเชีย  โดยการบินไทยยังวนอยู่กับการทำแผนฟื้นฟูกิจการ  เพราะล่าสุดกระแสเงินสดสามารถจ่ายเงินเดือนให้พนักงานและเจ้าหนี้ได้แค่อีกหนึ่งเดือนเท่านั้นเอง   ซึ่งถ้าเป็นกิจการเอกชนแล้วคงล้มละลายไปหลายปีก่อนแล้วด้วยเหตุผลหลายประการ   แต่ด้วยความเป็นรัฐวิสาหกิจก็มีคำถามว่า “ควรปล่อยให้การบินไทย ล้มหรือไม่ ?             เ พราะตอนนี้ไม่มีรายได้เลยมีแต่รายจ่าย ...............และถ้ายังระงับบินไปอีกสามสี่เดือนอะไรจะเกิดขึ้น !!!
                แต่กับสายการบินแอร์เอเชียประกาศเปิดตัวชุดพนักงานบริการบนเครื่องบิน  ที่ออกแบบมาเป็นชุดป้องกันไวรัสสำหรับลูกเรือเรียกได้ว่าพร้อมเปิดบริการ  ซึ่งคาดว่าเส้นทางในประเทศอาจจะเปิดได้ 1 พค หรือ 15 พค  2563 นี้    เป็นการคิดแบบนักธุรกิจที่พร้อมเพื่อการอยู่รอดแม้ว่าจะไม่สดใสเหมือในอดีตก็ตาม  เป็นการวัดกันว่าจะสามารถสร้างรายได้เพียงพอต่อการดำรงธุรกิจ คือ พอจ่ายจ่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละเดือนได้หรือไม่   แต่สุดท้ายผลประกอบการ และ กระแสเงินสด จะเป็นคำตอบสำหรับคำถามนี้นั่นเอง ......... แล้วคุณละเตรียมพร้อมหรือยังสำหรับ POSTCOVID-19
                ก็คงเป็นคำตอบได้ว่า  POSTCOVID   ปิด ??....หรือ เปิด ??.....

บอลข่าน ย่านสงคราม

  บอลข่าน   ย่านสงคราม 26 เมษายน 25678             ช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมาผมได้ลางานมากที่สุดในประวัติการทำงานของผม   คือลางานทั้...