วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561

โลซาน สำราญใจ




          

                เมื่อเดือนที่แล้วผมได้มีโอกาสไปรับการอบรม COURSE DIRECTOR   โดยท่าน รศ.ดร.สุพิตร สมาหิโต  รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย  ได้กรุณาคัดเลือกผมกับ ดร.ชัย  นิมมากร จากแกรนด์สปอร์ต ไปเข้ารับการฝึกอบรมโดยทุนของโอลิมปิคสากล  เพื่อมาเป็นผู้อำนวยการฝึกอบรม “การจัดการกีฬาขั้นสูง”  ต้องขอขอบพระคุณท่านและโอลิมปิคประเทศไทย  ที่ได้กรุณามอบโอกาสอันสำคัญยิ่งในครั้งนี้  ซึ่งผมจะกล่าวถึงการฝึกอบรมในตอนท้าย   แต่ช่วงแรกนี้ขอเล่าถึงโลซานสำราญใจก่อนนะครับ

                โลซาน ในภาษาฝรั่งเศสเขียนแบบนี้  Lausanne  ซึ่งถ้าอ่านตามภาษาอังกฤษจะเป็นอีกคำหนึ่ง ในเมืองนี้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลักซึ่งคงไม่แปลก  เพราะตั้งอยู่ในบริเวณทะเลสาบเจนีวาซึ่งติดกับเมืองเอวีย็อง-เล-แบ็งของประเทศฝรั่งเศส มีประชากรแค่ประมาณ 136,000 คน น้อยกว่าจังหวัดระนองซึ่งมีประชากรน้อยที่สุดในประเทศไทย ที่ประมาณ 190,000 คน   เมืองนี้เรียกได้ว่าเป็นเมืองกีฬาแต่ไม่ใช่เพาะมีกิจกรรมทางการกีฬาในเมืองอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  แต่เพราะเป็นที่ตั้งของคณะกรรมการโอลิมปิคสากล ( International Olympic Committee)  หรือที่เรียกย่อๆว่า IOC นั่นเอง   ซึ่งองค์กรนี้มีอำนาจสูงสุดในกระบวนการโอลิมปิก จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1894 โดยปีแยร์ เดอ กูแบร์แต็ง ชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจที่จะฟื้นฟูกีฬาโอลิมปิกในสมัยกรีกโบราณ สำหรับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลนั้น ประกอบด้วยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (National Olympic Committee หรือ NOC) ของประเทศต่าง ๆ ประกอบกันเป็นประเทศสมาชิก โดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากลมีหน้าที่ควบคุมคณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศสมาชิกทั่วโลก ให้ดำเนินงานจัดการแข่งขันให้เป็นไปตามหลักการและอุดมการณ์ของกีฬาโอลิมปิก   โดยมีรายได้หลักเพื่อนำมาบริหารงานจาก  4 ทาง คือ  การให้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดต่างๆที่โอลิมปิคเป็นผู้ดูแลคิดเป็น 47 รองลงมาเป็นรายได้จากสปอนเซอร์ 45ที่เหลือก็เป็นค่าตั๋ว และ ค่าลิขสิทธ์(ในการใช้ตราโอลิมปิคฯลฯ) 5 กับ 3 % ตามลำดับ

                การไปฝึกอบรมในครั้งนี้เพื่อนำองค์ความรู้มาจัดคอร์สฝึกอบรมในประเทศไทยในหัวข้อ ADVANCE SPORT MANAGEMENT COURSE เรียกย่อว่า ASMC  ซึ่งประเทศไทยเคยจัดมาแล้วสองรุ่น ฟังชื่อคอร์สแล้วหลายคนคงนึกถึงการฝึกอบรมแบบทั่วๆไปซี่งหัวข้อนี้ก็คงมีหลายหน่วยงานจัดการฝึกอบรม  หรือการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆอยู่แล้ว   แต่.....แต่.....หลักสูตรของโอลิมปิคนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงอยู่  3ประการหลักๆคือ  1.บุคลลากรที่จะเข้าฝึกอบรมจะต้องมีประสบการณ์  และอยู่ในฐานะที่จะปรับปรุงองค์กรกีฬาให้พัฒนาขึ้นได้  ไม่ใช่ใครก็ได้ส่งมาฝึกอบรมเสร็จแล้วก็ไม่ได้นำไปปฎิบัติจริง   2.ไม่ได้สอนทฤษฎี  แต่ให้ผู้เข้าฝึกอบรมนั้นกลับไปศึกษาองค์กรของตัวเอง  ตามที่วิทยากรกำหนดพร้อมกับศึกษากรณีศึกษาที่อยู่ในบทเรียน  แล้วหาข้อสรุปเพื่อการพัฒนาองค์กรของตนเอง   ซึ่งมีอยู่ 6 หมวด คือ
                1.องค์กรโอลิมปิคและ  องค์กรกีฬา
                2.กลยุทธ์การจัดการองค์กร
                3.การจัดการทรัพยากรมนุษย์
                4.การจัดการทางการเงิน
                5.การจัดการทางการตลาด
                6.การบริการจัดการมหกรรมกีฬา
                ประการสุดท้าย  จะต้องนำเสนอแผนการพัฒนาองค์กรเมื่อจบหลักสูตรพร้อมทั้งแผนปฏิบัติการจึงจะได้รับประกาศนียบัตรซึ่งออกโดยโอลิมปิคสากล  และในระหว่างการฝึกอบรมนั้นจะใช้วิธีการทำกรณีศึกษา  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน  ในหมู่ผู้เข้ารับการอบรมซึ่งก็ต้องเป็นบุคลที่สามารถนำเสนอและนำแผนไปปฏิบัติได้อย่าเงเป็นรูปธรรมด้วย  นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะว่าในการฝึกอบรมในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่แล้วมาฟังบรรยาย  จบแล้วก็จบกันถือว่าภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว  การเกิดมรรคผลน่าจะไม่ถึง 20 เปอร์เซนต์  แต่ก็นับได้ว่ายังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย  จิง....จิง.....
                เกล็ดเล็กน้อยของเมืองโลซานหลายท่านคงทราบดีว่า ในหลวง ร.9 ผู้ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนของเราชาวไทยทั้งหลาย  ทรงเสด็จไปศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2476 ทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 ทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอลนูแวลเดอลาซุอิสรอม็องด์ (École Nouvelle de la Suisse Romande) เมืองชายี-ซูร์-โลซาน (Chailly-sur-Lausanne)  นอกจากนี้แล้วในเมืองโลซานนี้ยังมี ศาลาไทย ณ เมืองโลซานน์ (Le Pavillon Thailandais)  ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี  ซึ่งพระองค์ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก  นอกจากนี้ยังเป็นที่ระลึกในการครบรอบ 75 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสวิสเซอร์แลนด์ ในการในปีพ.ศ. 2549 อีกด้วย  ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบเจนีวานับว่าสวยงามอย่างยิ่ง
                เมืองโลซานนี้และหลายๆเมืองในสวิสเซอร์แลนด์ (ไม่แน่ใจว่าทุกเมืองหรือไม่)  เมื่อเราเช็คอินเข้าที่พักแล้วจะได้รับบัตรมาใบหนึ่งขนาดเท่าบัตรเครดิต  สามารถใช้เป็นบัตรโดยสารขนส่งสาธารณะได้ฟรี  ตลอดระยะเวลาที่เราพำนักในเมืองนั้นๆ    ไม่ว่าจะเป็นรถไฟใต้ดิน (ซึ่งมีอยู่สองสาย)  รถเมล์  เรือเมล์  (ยกเว้นเรื่องสำหรับท่องเที่ยว)  และที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆก็คือไม่ต้องแตะบัตร  ไม่ต้องโชว์บัตร  เพราะที่นี่ความซื่อสัตย์เป็นเรื่องสำคัญ  รถไฟใต้ดินไม่มีประตูกั้นแบบเมืองอื่นๆทั่วโลก  รถเมล์ไม่ต้องแตะบัตรใดๆทั้งสิ้น  ส่วนเรือเมล์ยังไม่ได้นั่งซึ่งคงเหมือนกัน แต่สำหรับคนท้องถิ่นแล้วต้องซื้อบัตรจากตู้ขายบัตรตรงป้ายรถเมล์นั่นเอง  ซึ่งผมถามว่าทำไมไม่มีการตรวจบัตรโดยสารเลย  คำตอบคือจะมีการสุ่มตรวจเป็นระยะๆหากพบว่ามีการเบี้ยวค่าโดยสารละก็ค่าปรับแพงไม่คุ้มค่าเลยครับ  ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 วัน ที่อยู่ในโลซานพบการสุ่มตรวจบัตรโดยสารเพียงแค่หนึ่งครั้งเท่านั้นเอง   แสดงว่า............ความซื่อสัตย์  เริ่มต้นได้ที่ตัวคุณ........ครับ..@@@@

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขายรัย...ทำไมเราอิน (มาก)

                                                   เครดิตภาพจาก "เฟสบุคไทรสุก"           สองอาทิตย์ก่อนไปเห็นน้องคนหนึ่งที่เป็...