คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ
กับการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ.2565 - 2569)
เนื้อหา
1. วิวัฒนาการของแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่
1 (พ.ศ. 2531 - 2539) ถึง ฉบับที่ 6
(พ.ศ.2560 - 2564)
2. ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะบางประการของคณะทำงานการประเมินแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ.2550 - 2554) และ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2555 - 2559)
3. ทำไมต้อง NOCT : บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
4. ความเชื่อมโยงของแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติกับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ(NSDP กับ NOCT)
5. NOCT กับมาตรการและแนวทางการพัฒนาโดยใช้ฐานในการวางกรอบแผนงานจากยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ในแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ.2560 - 2564)
6. ข้อสังเกตและข้อคิดเห็นบางประการในการจัดทำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่
7
(พ.ศ.2565 - 2569)
1. วิวัฒนาการของแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2531 - 2539)
ถึง ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2560 - 2564)
“กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ
แก้กองกิเลศทำคนให้เป็นคน”
บทเพลงที่มีเนื้อร้องที่คนไทยได้ยินได้ฟังมาอย่างช้านาน เป็นบทประพันธ์เนื้อร้องโดย
“ครูเทพ” หรือ พระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องที่ฉายภาพให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า กีฬาเป็นยาวิเศษที่จะช่วยสร้างให้มนุษย์เป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง
สมบูรณ์ มีจิตใจที่มั่นคง เข้มแข็ง
มีค่านิยมที่เป็นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นผู้ที่มีระเบียบวินัย
มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบตามบทบาทและหน้าที่ รู้จักการแบ่งปัน
มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ
รู้อภัย
และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้การดำเนินชีวิตในสังคมเป็นไปด้วยความสงบ เรียบร้อย และเกิดสันติสุข ด้วยประจักษ์ในความจริงดังกล่าว
รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการกีฬาที่จะช่วยในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
จึงได้ดำริให้มีการจัดทำ “แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” ขึ้น
เพื่อใช้เป็นเข็มทิศในการชี้แนะแนวทางดำเนินกิจกรรมด้านการกีฬาของประเทศซึ่งจะเป็นการนำพาให้คนในประเทศเป็นคนที่มีคุณภาพพร้อมที่จะพัฒนาชาติให้มีความเจริญเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน
แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2531 - 2539) ประกอบด้วย 6 แผนงาน ดังนี้
1. แผนการพัฒนาการกีฬาขั้นพื้นฐาน
2. แผนการพัฒนาการกีฬาเพื่อสุขภาพ
3. แผนพัฒนาการกีฬาเพื่อการแข่งขัน
4. แผนพัฒนาโภชนาการกับการกีฬา
5. แผนพัฒนาการบริหารและจัดการองค์กรในการพัฒนาการกีฬา
6. แผนพัฒนาการกีฬาเพื่อการอาชีพ
จากการวิเคราะห์ของการได้มาของ 6 แผนงานดังกล่าว จะมีคำสำคัญ (key words) ของ 3 แผนงานได้แก่ โภชนาการการกีฬา การบริหารและจัดการองค์กรกีฬาในการพัฒนาการกีฬา และ การกีฬาเพื่อการอาชีพ ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ของการพัฒนากีฬาชาติในห้วงเวลานั้น
แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2540 - 2544) ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2545 - 2549) และฉบับที่ 4 (พ.ศ.2550 - 2554) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาการกีฬาขั้นพื้นฐาน
2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาการกีฬาเพื่อมวลชน
3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ
4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาการกีฬาเพื่อการอาชีพ
5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
6. ยุทธศาสตร์การพัฒนาการบริหารการกีฬา
ในแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 2,3 และ 4 ได้ปรับการใช้ภาษาของแต่ละแผนให้ออกมาเป็นยุทธศาสตร์ โดยมีกรอบของแผนงาน (มาตรการ) ที่มีความกระชับ รัดกุม และครอบคลุมเนื้องานให้กว้างขวางขึ้น
สำหรับคำสำคัญ (key word) ของแผนดังกล่าวในห้วงเวลานั้นคือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555 - 2559) ได้มีการปรับภาษาให้เหมาะสมและชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังคงความสำคัญในการพัฒนาทั้ง 6 ด้านดังนี้
1. การพัฒนาการออกกำลังกายและการกีฬาขั้นพื้นฐาน
2. การพัฒนาการออกกำลังกายและการกีฬาเพื่อมวลชน
3. การพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ
4. การพัฒนาการกีฬาเพื่อการอาชีพ
5. การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
6. การพัฒนาการบริหารจัดการการกีฬาและการออกกำลังกาย
สำหรับแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 5 มีวิสัยทัศน์ที่ปรากฏอย่างชัดเจนโดยมุ่งเน้นเรื่อง การเพาะบ่มคุณธรรม จริยธรรมให้เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาควบคู่ไปกับมาตรการเชิงรุกในยุทธศาสตร์ที่ 1 สำหรับในยุทธศาสตร์การพัฒนาการกีฬาเพื่อการอาชีพ นั้น จะมุ่งสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศโดยใช้ฐานของกีฬาอาชีพ และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการกีฬาของภูมิภาคและของโลก
แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ.2560 - 2564) ได้วางวิสัยทัศน์เอาไว้โดยให้การกีฬาเป็นกลไกสำคัญในการสร้างคุณค่าทางสังคม และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะยังคงไว้ซึ่ง 6 ยุทธศาสตร์เดิม เพียงแต่เติมเนื้อหาของแต่ละยุทธศาสตร์ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นเพื่อให้ลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยมีรายละเอียดของยุทธศาสตร์ดังนี้
1. การส่งเสริมให้เกิดความรู้และความตระหนักด้านการออกกำลังกายและการกีฬาขั้นพื้นฐาน
2. การส่งเสริมให้มวลชนมีการออกกำลังกายและมีส่วนร่วมในกิจกรรมการกีฬา
3. การพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศและต่อยอดเพื่อความสำเร็จในระดับอาชีพ
4. การพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจ
5. การพัฒนาองค์ความรู้และนวตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
6. การยกระดับการบริหารจัดการด้านการกีฬาให้มีประสิทธิภาพ
ในแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 6 ได้ให้ความสำคัญซึ่งเป็นคำสำคัญ (key words) คือ อุตสาหกรรมกีฬาเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การพัฒนาองค์ความรู้และนวตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา ซึ่งจะได้มาจากการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย ในศาสตร์ต่างๆที่เกียวข้อง รวมทั้งการยกระดับการบริหารจัดการขององค์กรกีฬาที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า เป็นองค์กรที่จะช่วยขับเคลื่อนการกีฬาได้ในทุกๆมิติ
2. ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะบางประการของคณะทำงานการประเมิน
แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ.2550 - 2554) และฉบับที่ 5 (พ.ศ.2555 - 2559)
1. ก่อนการนำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติลงสู่ภาคปฏิบัติ องค์กรที่มีหน้าที่เกียวข้องขาดการนำรายละเอียดของแผนฯไปชี้แจง ทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติ จึงทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ และบางครั้งจะตีความในรายละเอียดไม่แจ่มแจ้ง กรณีนี้ องค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องควรจะต้องดำเนินงานให้ครบตามลำดับขั้นตอน คือ ต้องมีการนิเทศ การติดตาม และการประเมินผล ในอดีตที่ผ่านมา จะมีการติดตามเล็กน้อย และให้ความสำคัญกับการประเมินผลจึงทำให้ผลการประเมินไม่เป็นไปตามเป้าหมาย (ตัวชี้วัด)
2. การมอบหมายเจ้าภาพหลักของแต่ละยุทธศาสตร์
บางยุทธศาสตร์จะไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อน เช่น ยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วย
การพัฒนาการออกกำลังกายและการกีฬาขั้นพื้นฐาน โดยมีกรมพลศึกษาเป็นเจ้าภาพหลัก
แต่กลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาในยุทธศาสตร์นี้จะอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ
เจ้าภาพหลัก (กรมพลศึกษา)
ขาดอำนาจการบริหารในระบบสถานศึกษา
เด็กและเยาวชนจึงขาดโอกาสในการเข้าถึงยุทธศาสตร์นี้
3. ยุทธศาสตร์หลายยุทธศาสตร์กำหนดเจ้าภาพมากเกินไป
ซึ่งในการดำเนินงานจึงไม่มีการ “บูรณาการ”
ในการทำงาน ต่างคน ต่างทำ ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรโดยไม่จำเป็น
4. ตัวชี้วัดในบางมาตรการเขียนไว้ไม่ชัดเจนทำให้การตีความไม่คงเส้นคงวา บางตัวชี้วัดตีความไม่ถูกต้อง เมื่อต้องประเมินทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ตัวชี้วัดบางรายการโดยเฉพาะตัวชี้วัดในเชิงปริมาณ การกำหนดตัวชี้วัดที่เป็นตัวเลข ไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เช่น การกำหนดค่าร้อยละที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือ การกำหนดค่าร้อยละของสมรรถภาพทางกายที่ดีขึ้นของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา เป็นต้น
5. ยุทธศาสตร์บางยุทธศาสตร์มีตัวชี้วัด แต่ไม่ได้ระบุมาตรการ (กิจกรรม)ไว้ การประเมินผลจึงไม่มีข้อมูล เช่น การกำหนดตัวชี้วัดว่า เด็กและเยาวชนจะมีจริยธรรม คุณธรรม (ยุทธศาสตร์ที่ 1) แต่ในระบบการศึกษา ไม่ได้วางกิจกรรมที่จะตรวจสอบเด็กและเยาวชนในเรื่องจริยธรรมและคุณธรรม
6. การบริหารจัดการกีฬาที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด และองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญที่สุด จากการประเมินพบว่า องค์ความรู้ด้านการบริหารการจัดการ ผู้นำหรือผู้บริหารขององค์กรยังใช้ประสบการณ์เดิมของตนเองอยู่ซึ่งบางครั้งยังไม่เข้าสู่หลักการสากลจึงทำให้ความสามารถในการประยุกต์องค์ความรู้สู่การปฏิบัติยังไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร
3. ทำไมต้อง NOCT : บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์กรกีฬาหลักของประเทศที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 (ค.ศ.1948) โดยมีบทบาทและหน้าที่ซึ่งปรากฏอยู่ในกฏบัตรดังนี้ คือ
1. ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์หลักการของอุดมการณ์โอลิมปิก (Olympism) ภายใต้ธรรมนูญโอลิมปิก (Olympic Charter) ของคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ (International Olympic Committee)
2. ดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตาม Olympic Charter
3. ส่งเสริมและพัฒนากีฬาให้ได้มาตรฐานในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้องส่งเสริมและสนับสนุนกีฬาเพื่อ มวลชน
4. ส่งเสริมและพัฒนาทักษะของผู้บริหารการกีฬา โดยจัดอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการกีฬาแก่ บุคลากรกีฬา
5. เป็นองค์กรที่มีหน้าที่คัดเลือกและส่งนักกีฬาระดับชาติเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก กีฬาระดับทวีป กีฬาระดับภูมิภาค หรือการแข่งขันใดๆที่อยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของ IOC
6. ประสานงานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการสนับสนุนและพัฒนาการกีฬาของชาติให้ไปในทิศทางเดียวกัน
7. ต้องมีความคิดและการบริหารจัดการเป็นอิสระ หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ อันเกิดจาก แรงกดดันทาง การเมือง ศาสนา หรือทางเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ตาม Olympic Charter
ในฐานะที่ NOCT เป็นองค์กรกีฬาหลักของประเทศองค์กรหนึ่ง และหากจะพัฒนาบทบาทหน้าที่ของ NOCT ทั้ง 7 ข้อ โดยเฉพาะในข้อที่ 6 ที่จะต้อง “ประสานงานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการสนับสนุนและพัฒนาการกีฬาของชาติให้ไปในทิศทางเดียวกัน” คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯจึงเห็นสมควรที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ.2565 - 2569) ซึ่งต้องเป็นแผนที่จะนำมาใช้เพื่อการพัฒนากีฬาของชาติในภาพรวมในอนาคตอันใกล้นี้
4. ความเชื่อมโยงของแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติกับ
คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย (NSDP กับ NOCT)
ข้อมูลต่างๆต่อไปนี้จะเป็นการฉายภาพให้เห็นว่าโดยบทบาทและหน้าที่ของ NOCT จะไปเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านของแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติได้อย่างไร (ยังใช้ฐานของแผนฯ #6 เพราะยุทธศาสตร์แผนฯ #7 ยังไม่ได้กำหนด)
แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2531 - 2539) |
บทบาทและหน้าที่ของ NOCT ยุทธศาสตร์ที่ 3 = แผนพัฒนาเพื่อการแข่งขัน ความรู้ ทักษะ เทคนิค และประสบการณ์ต่างๆทางการกีฬา การนำทีมนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ไปแข่งขัน ณ ต่างประเทศในมหกรรมกีฬา ยุทธศาสตร์ที่ 5 = แผนพัฒนาการบริหารและจัดการองค์กรการพัฒนาการกีฬา องค์กรกีฬาระดับนานาชาติ (การบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารองค์กรกีฬาเช่น IOC, OCA, IF, AF เป็นต้น) |
แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2540 - 2544) ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2545 - 2549) ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2550 - 2554)
หมายเหตุ : ทั้ง 3 ฉบับใช้ 6 ยุทธศาสตร์เดิม |
บทบาทและหน้าที่ของ NOCT ยุทธศาสตร์ที่ 1 = การพัฒนาการกีฬาขั้นพื้นฐาน มีตัวชี้วัดเรื่องคุณธรรม จริยธรรม แต่ไม่ปรากฏมาตรการ (กิจกรรม) ควรให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่อง “ค่านิยมโอลิมปิก” (Olympic Value) ซึ่งจะอยู่ในโครงการ OVEP (Olympic Values Education Program) โดยเฉพาะในสถานศึกษาระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ซึ่งจะทำงานร่วมกับ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ส.พ.ฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ยุทธศาสตร์ที่ 5 = การพัฒนาการบริหารการกีฬา NOCT โดย TOA มีหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ให้ผู้บริหารสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดในโครงการ Sport Administration และ Advanced Sport Management ซึ่งเป็นหลักสูตรของ IOC ได้สร้างความตระหนักรู้ การบริหารจัดการกีฬาอย่างเป็นรูปแบบ และเป็นมาตรฐานสากล มีหลักธรรมาภิบาลตามรูปแบบโอลิมปิก (Good Governance by Olympic Model) |
แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ.2555 - 2559) |
บทบาทและหน้าที่ของ NOCT ใช้ 6 ยุทธศาสตร์เดิมจากแผนฯ 4 (พ.ศ.2550 - 2554) เน้น - คุณธรรม จริยธรรม และน้ำใจนักกีฬา (วัตถุประสงค์ข้อ 2) แต่ไม่ปรากฏมาตรการ - เรื่อง ธรรมาภิบาลการกีฬา (Good Governance) (วัตถุประสงค์ข้อ 5) ใช้ SAM, MOSO - เน้นเรื่องการบริหารจัดการกีฬาที่มีคุณภาพ (วัตถุประสงค์ข้อ 7) ใช้ SAM, MOSO * SAM : Sport Administration Manual MOSO : Managing Olympic Sport Organizations |
แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ.2560 - 2564) |
วิสัยทัศน์ - กีฬาเป็นกลไกสำคัญในการสร้างคุณค่าทางสังคม (คุณค่าทางสังคม Social Values สร้างได้ด้วยค่านิยมโอลิมปิก Olympic Values) - กีฬาช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ
เศรษฐกิจของประเทศ กีฬาอาชีพ
อุตสาหกรรมกีฬา (Sport Industry)
โครงการ Advanced Sport Management Course (ASMC) |
5. NOCT กับมาตรการโดยใช้ฐานในการวางกรอบแผนงานจากยุทธศาสตร์ทั้ง 6
ในแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การส่งเสริมให้เกิดความรู้ และความตระหนักด้านการออกกำลังกายและการกีฬาขั้นพื้นฐาน
สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ : ให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาด้านพลศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง มีการออกกำลังกายและเล่นกีฬาขั้นพื้นฐานอย่างถูกต้อง มีระเบียบวินัย มีน้ำใจนักกีฬา รวมถึงมีการจัดวางระบบโครงข่ายในสถานศึกษาและชุมชน
มาตรการ (แนวทางการพัฒนา) :
1. ปลูกฝังค่านิยมกีฬา (Sport Values) โดยใช้ค่านิยมโอลิมปิก (Olympic Values) เป็นเครื่องมือ ผ่าน โครงการค่านิยมโอลิมปิก (Olympic Values Education Program : OVEP) ในสถานศึกษาทั่วประเทศ
2. ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาขั้นพื้นฐานโดยบูรณาการกับมาตรฐานการเรียนรู้ทั้ง 12 มาตรฐานในหลักสูตรระดับปฐมวัยศึกษา และ 5 สาระการเรียนรู้ในหลักสูตรพลศึกษา และสุขศึกษา ระดับประถมศึกษา ในสถานศึกษาทั่วประเทศ
3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาจัดตั้ง เครือข่ายชุมชนแห่งการเรียนรู้โอลิมปิกศึกษา (Olympic Study Learning Community) เพื่อเป็นชุมชนที่เป็นแหล่งรวมขององค์ความรู้ที่เกี่ยวกับ ยุทธศาสตร์โอลิมปิก (Olympic Movement) ที่สามารถนำมาประยุกต์ในการพัฒนาการกีฬาทุกๆมิติ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การส่งเสริมให้มวลชนมีการออกกำลังกายและมีส่วนร่วมในกิจกรรมการกีฬา
สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ : ส่งเสริมการออกกำลังกายและกิจกรรมการกีฬาแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย เพื่อเสริมสร้างสุขภาพ พลานามัย ลดปัญหาของสังคม ส่งเสริมให้ประชาชนมีจิตอาสา และพัฒนาระบบอาสาสมัครด้านการกีฬา
มาตรการ (แนวทางการพัฒนา)
1. สนับสนุนให้ชุมชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จัดตั้ง เครือข่ายชุมชนแห่งการเรียนรู้โอลิมปิกศึกษา (Olympic Study Learning Community) เพื่อชุมชนนั้นจะได้นำค่านิยมโอลิมปิก (Olympic Values) มาพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกๆมิติ
2. ส่งเสริมให้เด็กหญิงและสตรีมีส่วนร่วมในกิจกรรมการออกกำลังกายและกิจกรรมกีฬาอย่างชัดเจนและ จริงจัง เพื่อสร้างความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality)
3. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัด “วันโอลิมปิก” (Olympic Day) เข้าไว้ในปฏิทินการจัดกิจกรรมการออก กำลังกายและกีฬาของหน่วยงาน เพราะกิจกรรมในวันโอลิมปิกจะเปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการของการ เสริมสร้างรากฐานของการเป็นผู้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้พิการ ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ผู้ด้อยโอกาส ชนกลุ่มน้อย (minority group) ได้เข้าถึงการให้บริการด้านการออกกำลังกายและเล่นกีฬา
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศและต่อยอดเพื่อความสำเร็จในระดับอาชีพ
สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ : เน้นการสร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชาติโดยการสร้างและพัฒนาฝีมือให้นักกีฬาไปสู่ความเป็นเลิศ เน้นการสร้างชื่อเสียง เกียรติยศ และเกียรติภูมิของประเทศ และสามารถต่อยอดขึ้นไปเป็นนักกีฬาอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเอง เป็นการเพิ่มเศรษฐกิจให้กับประเทศ
มาตรการ (แนวทางการพัฒนา)
1. การร่วมการวางแผนการพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศระยะยาวในการพัฒนาสมรรถนะนักกีฬาเข้าสู่ เกมส์การแข่งขันระดับนานาชาติ ระดับโลก
2. การวางแผนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาในรายการใหญ่ๆ เช่น โอลิมปิกเกมส์ เอเชียนเกมส์ และหรือ รายการแข่งขันชิงชนะเลิศในระดับโลก ระดับทวีป และระดับภูมิภาค ที่มีความยั่งยืน โดยจะ เชื่อมโยงกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ
3. จัดทำมาตรฐานการจัดการแข่งขันกีฬาสมัครเล่นในระดับชาติและระดับนานาชาติให้เข้าสู่ มาตรฐานสากล (major sport event management)
4. สนับสนุนให้มีการริเริ่มจัดทำกองทุนสำหรับอดีตนักกีฬาในครอบครัวโอลิมปิก (Olympians)
5. จัดทำมาตรการคุ้มครองและปกป้องนักกีฬาจากความรุนแรง การคุกคาม การล่วงละเมิด (harassment) และการใช้สารต้องห้าม ซึ่งมาตรการเหล่านี้ ปรากฏอยู่ใน Olympic Agenda 2020 / New norm และ Olympic Charter
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ : สนับสนุนการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกีฬาและส่งเสริมอย่างครบวงจร มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงกีฬา การจัดตั้งเมืองกีฬา ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการกีฬาของภูมิภาค
มาตรการ (แนวทางการพัฒนา)
1. พัฒนาระบบการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานให้กับอดีตนักกีฬา ผู้บริหารทางการกีฬาซึ่งจะสามารถ นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬา
2. พัฒนาเมืองกีฬา (Sport City) ให้เป็นเมืองโอลิมปิก (Olympic City) เพื่อเตรียมพร้อมในการเสนอตัว เป็นเจ้าภาพยูธโอลิมปิกเกมส์ 2030 (Youth Olympic Games 2030)
3. ส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาและกิจกรรมการจัดการประชุมทางวิชาการระดับโลก ระดับ นานาชาติ เพื่อประเทศไทยจะได้รับการพิจารณาให้เป็นศูนย์กลางด้านกีฬาของภูมิภาค
4. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรกีฬาระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง เพื่อรอรับการจัดตั้งสำนักงานกีฬาระดับ ภูมิภาค และพัฒนาองค์กรกีฬาให้เข้าสู่มาตรฐานสากลตามรูปแบบขององค์กรกีฬาโอลิมปิก (Olympic Sport Organization)
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การพัฒนาองค์ความรู้และนวตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ : ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาเพื่อพัฒนาสุขภาพ สมรรถภาพของประชาชน จนพัฒนาไปสู่ความสามารถสูงสุดอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการสร้างความตระหนักและการนำองค์ความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
มาตรการ (แนวทางการพัฒนา)
1. สร้างองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ด้านโอลิมปิกศาสตร์เพื่อสร้างนวตกรรม (สร้างหลักสูตร / สร้าง รายวิชา / สร้างองค์ความรู้) ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
2. ส่งเสริมให้มีการจัดทำองค์ความรู้เกียวกับการเตรียมตัวในการเดินทางไปแข่งขันมหกรรมกีฬาใน ระดับชาติ ระดับนานาชาติ การปฏิบัติตนในช่วงของการแข่งขัน และการเดินทางกลับจากการแข่งขัน ตามหลักการระดับสากล
3. ส่งเสริมให้มีการพัฒนานวตกรรมเพื่อความปลอดภัยในการออกกำลังกายและเล่นกีฬา ตามสถานการณ์ ในห้วงเวลานั้น
4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรการกีฬามีความรู้ ความเข้าใจ ในองค์ความรู้โอลิมปิกศาสตร์เพื่อการ ประยุกค์ใช้อย่างครบวงจร
ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การยกระดับการบริหารจัดการด้านการกีฬาให้มีประสิทธิภาพ
สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ : เสริมสร้างการบูรณาการการบริหารจัดการทางการกีฬาตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติการ พัฒนาระบบฐานข้อมูลที่มีมาตรฐาน ยกระดับการบริหารจัดการขององค์กรกีฬาให้เข้าสู่มาตรฐานสากล ที่สำคัญจะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล (Good Governance)
มาตรการ (แนวทางการพัฒนา)
1. ส่งเสริมและพัฒนากีฬาให้ได้มาตรฐานในระดับที่สูงขึ้น โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรกีฬาระดับโลก เช่น IOC, IOA, OS, IF, OCA, AF, ANOC เป็นต้น
2. ส่งเสริมให้ใช้ยุทธศาสตร์โอลิมปิก (Olympic Movement) ในการบริหารจัดการองค์กรกีฬาอย่างเป็นรูปธรรม โดยการนำองค์ความรู้จาก *SAM, MOSO มาใช้
3. ส่งเสริมให้นำหลักธรรมาภิบาลกีฬาเพื่อการปฏิรูปองค์กรกีฬาไทยสู่องค์กรกีฬาโอลิมปิก
4. ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำอนุญาโตตุลาการการกีฬา (CAS) มาใช้ในการพัฒนากีฬาชาติ
เจ้าของหลักสูตรคือ IOC / OS |
MOSO = Managing Olympic Sport Organization
6. ข้อสังเกตและข้อคิดเห็นบางประการในการจัดทำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 7
(พ.ศ.2565 - 2569)
1. มองในภาพรวมของการพัฒนากีฬาชาติ เห็นสมควรให้คงยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนา การกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ.2560 - 2564) ไว้ และเพื่อให้เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ การมีพลังในการปฏิรูปการกีฬาไปสู่ระบบมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้ว เห็นสมควรให้ พิจารณาการเพิ่มยุทธศาสตร์ที่ 7 ว่า “การพัฒนากีฬาชาติอย่างครบวงจรด้วย ยุทธศาสตร์โอลิมปิก” (Olympic Movement)
2. หากจะมีประเด็นร้อนและสำคัญในห้วงเวลานั้น
ก็สามารถจะเพิ่มประเด็นนั้นๆเข้าไปในยุทธศาสตร์ที่ สามารถเชื่อมโยงกันได้
เช่นเดียวกับการเพิ่ม professional sport
เข้าไปในยุทธศาสตร์ที่ 4 ใน แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 5 แผน 6 และ sport
industry ในแผน 6 (พ.ศ.2560 - 2564)
(ณ ห้วงเวลานี้ ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ
โควิด 19)
3. เพื่อให้เห็นภาพของเป้าประสงค์ของแต่ละยุทธศาสตร์ได้ชัดเจนขึ้น วิสัยทัศน์ (Vision) ของทั้งแผน ฯ เป็น เข็มทิศที่ชี้ในภาพรวมที่ดีอยู่แล้ว แต่เพื่อจะฉายภาพให้เห็นรายละเอียดของเป้าประสงค์ มาตรการ (แนว ทางการพัฒนา) ตัวชี้วัด ของแต่ละยุทธศาสตร์ได้ชัดเจนขึ้นเห็นสมควรให้มีการระบุวิสัยทัศน์ของแต่ละ ยุทธศาสตร์ไว้ด้วย
4. ในแนวทางการพัฒนาของแต่ละยุทธศาสตร์ ต้องระบุเจ้าภาพหลัก / ร่วมไว้ให้ชัดเจน เพราะจากการ ประเมินทำให้ทราบว่าบางองค์กร / หน่วยงาน ยังไม่ทราบเลยว่า เป็นภารกิจขององค์กร / หน่วยงานของ ตนเอง จึงส่งผลให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายเพราะขาดการบูรณาการ
5. การวางตัวชี้วัดของแต่ละมาตรการ ควรคำนึงถึงฐานที่มาของการคิดโดยเฉพาะตัวชี้วัดที่เป็นเชิงปริมาณ ตัวชี้วัดในเชิงคุณภาพที่ได้ระบุไว้ก็จะต้องมั่นใจว่าได้ระบุมาตรการ หรือแนวทางในการพัฒนาไว้ด้วยแล้ว
6. การจัดทำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ.2565 - 2569) สมควรจะต้องนำผลการประเมิน แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ.2560 - 2564) มาใช้เป็นฐานในการพิจารณาด้วย
7. ในการจัดทำรายละเอียดของแต่ละยุทธศาสตร์ ควรเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละยุทธศาสตร์เป็นผู้ร่วมใน การจัดทำ ประสบการณ์ที่ผ่านมา มาตรการบางมาตรการทำไม่ได้ ตัวชี้วัดบางรายการไม่สมเหตุสมผล ทำให้ผู้ปฏิบัติตีความหมายตัวชี้วัดไม่ตรงกัน
8. ผู้ทรงคุณวุฒิที่ควรจะมีส่วนร่วมในการจัดทำ ควรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากระดับรากหญ้าจากส่วน ภูมิภาคด้วย เช่น นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด เพราะบุคลากรกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับมวลชนจริง
9. ควรมีการจัดตั้ง คณะทำงานนิเทศ ติดตาม และประเมินผล การดำเนินงานแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2565 - 2569) เพื่อขับเคลื่อนให้แผนฯนี้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผลเชิง ประจักษ์ โดยคณะทำงานชุดนี้จะมีวาระการทำงานทั้ง 3 ช่วง คือ ช่วงการนิเทศ การติดตาม และการ ประเมินผล (พ.ศ.2565 - 2569)
นำเสนอโดย
สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย
18 มกราคม 2564