วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“เราอยู่ในธุรกิจอะไร” WHAT BUSINESS WE ARE IN ? ? ?



ในที่สุดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็คร่าชีวิตคนไทยไปแล้ว 5 คนในขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ทั้งๆที่รมต.สาธารณสุขเพิ่งให้ข่าวว่าโรคนี้ไม่ร้ายแรงรักษาให้หายได้ เลยทำให้ประชาชนนั้นคลายความกังวลลงจนไม่ระมัดระวังเท่าที่ควรหรือเปล่า? คงเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ แต่อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้วมนุษย์โลกก็ต้องปรับตัวและอยู่กับมันให้ได้ในที่สุด เหมือนกับหวัดนก หรือ ซาร์ ที่เคยระบาดเมื่อหลายปีก่อนนั้นจนมีคนถามผมเล่นๆว่าไอ้โรคใหม่นี้เป็นเพราะว่าบริษัทยา หรือบริษัทวิจัยเป็นคนพัฒนาและปล่อยเชื้อมาเพื่อขายยาหรือหวัคซีนเหมือนที่เราเคยดูในภาพยนตร์อยู่บ่อยๆ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิดและก็ต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เฉกเช่นเดียวกับธุรกิจก็ต้องปรับตัวเองให้อยู่ได้ในทุกสถานการณ์ แต่หากปรับตัวไม่ได้ก็ต้องล้มหายตายจากไป ซึ่งเป็นวัฏฏะของสัตว์โลกนั่นเอง
และในการบริหารธุรกิจให้อยู่รอดได้มันมีคำถามหนึ่งว่า “เราอยู่ในธุรกิจอะไร” ถ้าเราตอบได้ว่าเราอยู่ในธุรกิจอะไร และขอบข่ายของธุรกิจนั้นคืออะไรก็เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพและเป้าหมายของธุรกิจ ที่สำคัญจะเห็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายขององค์กรได้อย่างแท้จริง หากเราตอบว่าเราอยู่ในธุรกิจอย่างแคบซึ่งก็คือเฉพาะสินค้าที่เราดำเนินกิจการอยู่ก็จะไปปิดกั้นโอกาสทางธุรกิจอื่นๆที่สามารถใช้ศักยภาพ หรือทรัพยากรที่เรามีอยู่ให้กว้างขวางขึ้นได้ อันจะเป็นการต่อยอดธุรกิจ ขยายธุรกิจ ขยายขอบข่ายการบริการ ขยายกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และในที่สุดก็จะก่อให้เกิดผลกำไรในที่สุด ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดที่สุดในกรณีนี้คือ “บริษัทไปรษณีย์ไทย” ซึ่งถ้าหากให้คำตอบว่า “อยู๋ในธุรกิจไปรษณีย์ / รับส่งจดหมาย” แล้วละก็วันนี้องค์กรนี้จบเห่แน่นอน เพราะปัจจุบันจำนวนคนที่ส่งจดหมายมีน้อยลงทุกวัน อันเป็นผลมาจาก การติดต่อสือสารกันในปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นการติดต่อทางอีเลคโทรนิค เช่น e-mail / โทรศัพท์มือถือ / แฟกซ์ ฯลฯ ที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และเป็นการสื่อสารสองทาง สามารถเห็นหน้าตากันได้ ฯลฯ แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่ายอดขายตราไปรษณียากรเพิ่มมากขึ้นจากที่ปี 2546 ยอดขาย 200 กว่าล้านบาท เพิ่มเป็น 1,265 ล้านบาทในปี 2551 ถามว่าทำไมยอดขายจึงเพิ่มขึ้นในขณะที่การติดต่อสือสารทางจดหมายไปรษณีย์ลดลงทุกวัน เพราะเค้าไม่ได้จำกัดว่าแสตมป์จะต้องเอาไว้ส่งจดหมายเท่านั้น แต่เค้าทำให้ แสตมป์เป็น “สิ่งสะสม” รวมทั้งการนำเอานวตกรรมมาใส่ลงไปในแสตมป์ เช่น กลิ่นหอม หรือแค่จัดทำสแตมป์ชุดพระเครื่องเบจภาคี แสตมป์สามมิติ แสตมป์ที่เป็นรูปของตนเองหรือครอบครัว และล่าสุดเพิ่งเปิดตัว แสตมป์ออนไลน์ที่เป็นส่วนตัวท่านสามารถนำภาพของท่านมาทำเป็นแสตมป์ได้ หรือการทำแสตมป์”อักษรเบล” และแน่นอนที่สุดกระแส “แพนด้า” ไม่ถึงอาทิตย์ที่แพนด้าน้อยเกิดขึ้นก็มีแคมเปญชิงโชคตั้งชื่อแพนด้ากันเพราะว่า ไปรษณีย์ไทยจับกระแสได้โดยพิมพ์ไปรษณียบัตรถึง 150 ล้านใบๆละ 5 บาท รายได้ 750 ล้านบาทเชียว โดยมีของรางวัลจูงใจก็นั่บว่ามากโขอยู่งานนี้กำไรไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทแน่ๆ แถมกระบวนการขายนอกจากตามที่ทำการไปรษณีย์แล้วยังให้บุรุษไปรษณีย์ขายตรงอีกด้วยคนที่ไม่รู้เรื่อง หรือไม่สนใจพอถูกกระตุ้นก็มักจะไม่พลาดยอดขายจะน้อยหรือมากเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัดซึ่งเป็นสังคมที่บุรุษไปรษณีย์รู้จักเกือบจะทุกคนในหมู่บ้าน ผมเองไปบรรยายให้พนักงานไปรษณีย์ฟังเกี่ยวกับแนวคิดการตลาด และการขายสินค้าในช่วงนั้นเป็นเทศกาลฟุตบอลโลกก็นับว่าเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติว่าบุรุษไปรษณีย์มีหน้าที่ส่งจดหมายแต่เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้แล้วไปรษณีย์ไทยยังอาศัยที่ว่ามีที่ทำการอยู่ในทุกอำเภอในประเทศไทยก็อาศัยมุมมองว่า ตนเองอยู่ในธุรกิจ “ขนส่ง “ แถมมีศูนย์บริการทั่วประเทศมากกว่าองค์กรใดๆในประเทศไทยก็เลยเกิดการขนส่ง เครื่องใช้ไฟฟ้าเพราะไหนๆก็มีรถต้องส่งจดหมาย สิ่งพิมพ์ไปยังทั่วประเทศอยู่แล้วนี่นา เร็วๆนี้ก็เปิดบริการรับส่งอาหารชื่อดังทั่วประเทศไทยแถมส่งได้อย่างรวดเร็วเสียด้วย ตอนนี้อยากกินแหนมจากร้านแดงแหนมเนือง หรือ น้ำพริกหนุ่มร้าสนัสนันท์ ก็เพียงยกหูโทรไป 1545 คอลเซ็นเตอร์ของไปรษณีย์ไทยได้เลย หรือจะโดยสั่งผ่านทางเว็บไซต์ จ่ายเงินทาง mPay ก็ได้อะไรจะสะดวกสบายปานนั้นโฆษณาให้พรีๆนะนี่ เท่านั้นยังไม่พอยังเป็นที่จัดจำหน่ายและรับจ่ายเงินต่างๆโดยอาศัยศักยภาพของที่ทำการไปรษณีย์ไทยที่มีเน็ตเวิรค์อยู่ทั่วประเทศเป็นจุดแข็งในการรังสรรค์บริการนี้ เช่น ขายตั๋วของไทยทิกเก็ตมาสเตอร์(แต่ไม่ทุกที่ทำการ) รับเช่าพระ ชำระค่าน้ำไฟโทรศัพท์ ประกันชีวิต ฯลฯ รับฝากถอนเงินให้กับธนาคารต่างๆเช่นธนชาติเป็นต้น ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ทำให้ผลประกอบการจากการขาดทุนเป็นพันล้านบาทในปี 2546 มาเป็นกำไรถึง 1,785 ล้านบาทในปีที่ 2551 ที่ผ่านมา เพราะว่าตอบโจทย์ถูกว่า “เราอยู่ในธุรกิจอะไร” นั่นเอง แล้วท่านผู้อ่านละครับตอบโจทย์ของตัวเองได้แล้วหรือยัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขายรัย...ทำไมเราอิน (มาก)

                                                   เครดิตภาพจาก "เฟสบุคไทรสุก"           สองอาทิตย์ก่อนไปเห็นน้องคนหนึ่งที่เป็...