วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2562

“ท่องเที่ยวไทย สู้ๆ”


               


                 ในปี 2553 (2010)  ญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวเพียงแค่  8.6 ล้านคนเท่านั้น  ในขณะที่ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวถึง  15.936 ล้าน คือประมาณ 16 ล้าน ก็เกือบสองเท่าของประเทศญี่ปุ่น  โดยสามารถทำรายได้เข้าประเทศได้ถึง  5.92 แสนล้านบาท ตัวเลขกลมๆก็คือ 6 แสนล้านบาท  นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
               เพราะจากวันนั้นมาถึงปี 2560 (2017 ) คือแค่ 7  ปี ตัวเลขนักท่องเที่ยวของญี่ปุ่น  กลับสูงถึง  28.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง  233 เปอร์เซนต์  คาดกันว่าปี 2561 (2018) ญี่ปุ่นจะมีนักท่องเที่ยวถึง  31.19  ล้านคนจี้ติดประเทศไทย     ซึ่งมีนักท่องเที่ยวคาดว่าในปีที่ผ่านมา 2561 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 37-38  ล้านคน  ทำรายได้ให้ประเทศ 2 ล้านล้านบาท นับว่าเป็นตัวเลขที่มีนัยะต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
                แต่ว่าการท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน  ( 3 ปี เพิ่ม 10 ล้านคน ) ซึ่งผมจะเป็นหนึ่งใน 40 ล้านคนเพราะจะมีมหกรรมโอลิมปิค 2020 ที่โตเกียว  ดังนั้นยอดเป้าหมาย 40 ล้านเป็นเรื่องที่เป็นไปได้อย่างแน่นอน    และ ปี  2573 เป้าหมายอยู่ที่  60 ล้านคน  ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเทียวนับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยจรรโลงเศรษฐกิจของประเทศ  เพราะนับวันจากความรุ่งเรืองทางอุตสาหกรรมรถยนต์และ เครื่องใช้ไฟฟ้าในอดีต  ถูกท้าทายด้วยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี่และวัฒนาการของ AI แบรนด์สินค้าใหม่ๆที่เข้ามาครองใจคนทั่วโลก  ทำให้แบรนด์ของญี่ปุ่นนับวันจะมีความขลังน้อยลงไป  คนรุ่นหลังๆอาจจะไม่ค่อยรู้จัก  หรือรู้จักก็ไม่ปลื้มกับแบรนด์  โซนี่  โตชิบา พานาโซนิค  ไอว่า และอีกหลายๆแบรนด์ที่เสื่อมความขลังลงไปในช่วงยี่สิบปีที่ผ่าน
                     ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเติบโตสูงขึ้นทุกปีนั้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายเรื่องการยกเลิกการขอวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวในหลายๆ ประเทศ เช่น ยกเว้นวีซ่าให้คนไทย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556  รวมทั้ง  รัสเซีย อินเดีย มาเลเซีย  อินโดนีเซีย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับทุกๆปี  โดยเฉพาะประเทศไทย จากเดิมที่ก่อนจะยกเว้นวีซ่ามีนักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่นปีละ 1-2 แสนคนเท่านั้น  แต่พอยกเลิกวีซ่าในปี 2556 แล้ว เพียงแค่ 5-6 ปี นักท่องเที่ยวเกิน 1 ล้านคนเข้าไปแล้ว  และแนวโน้มก็เพิ่มขึ้นปีละ 20-30 เปอร์เซนต์อีกด้วย  เร็วๆนี้คาดว่าจะยกเว้นวีซ่าให้กับ ฟิลิลปินส์  กับ  เวียดนามอีกด้วย 
               
                             ปัจจัยที่ทำให้ “ญี่ปุ่น”  เป็นประเทศที่น่าเดินทางท่องเที่ยวสามารถสรุปได้ดังนี้
                1.แน่นอนครับสำหรับคนไทย  เรื่องการยกเว้นวีซ่า  เป็นปัจจัยที่สำคัญหนึ่งเพราะทำให้สะดวกและนึกอยากไปเมื่อใดก็ซื้อทัวร์  ซื้อตั๋ว แล้วไปโลด
                2.ญี่ปุ่นมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายให้เลือก  ทั้งทางวัฒนธรรม ทางศิลปกรรม  ประวัติศาสตร์  และ เทคโนโลยี่  แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ที่ได้รับการดูแลอย่างดี)  ซึ่งประเทศไทยเราก็มีมากมายเช่นเดียวกันอาจจะยกเว้นเรื่องเทคโนโลยี่เท่านั้นที่เราเป็นรอง  เรียกได้ว่าญี่ปุ่นไปได้ทุกเดือน  ไปได้ทุกเมือง  และความแตกต่างจากเหนือสุด เกาะฮอกไกโด  จนใต้สุด เกาะคิวชู มีความหลากหลายในทุกมิติ ไม่ว่าจะภูมิอากาศ  ประวัติศาสตร์  วัฒนธรรม ฯลฯ
                3.การเดินทาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟใต้ดิน และ รถไฟระหว่างเมืองต่างๆเมื่อก่อนนี้แม้ว่าจะสะดวกสบาย  แต่สำหรับกระเหรียงไทยแล้วยุ่งยากมาก  ไม่เข้าใจ  และ คนญี่ปุ่นเองในสมัยก่อนก็ไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ  แต่ปัจจุบันด้วยแอพพลิเคชั่นต่างๆมาช่วยเติมเต็มชีวิตนักเดินทางให้สะดวก  และรวดเร็ว  แถมนักเดินทางรุ่นใหม่ของไทยเรายังสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ  หรือภาษาคอมพิวเตอร์ (ภาษาแอพพลิเคชั่น) ได้อย่างที่เรียกว่า มีแอพเดียวเที่ยวได้ทุกเมืองนั่นเอง  รวมั้งจีพีเอสที่สามารถบอกตำแหน่งแห่งหนของบรรดาทุกสิ่งในโลกนี้   55555 
                4.ราคาการเดินทางท่องเที่ยวไม่แพงเกินเอื้อมถึง  ผมไปญี่ปุ่นครั้งแรกประมาณ 30 ปีเศษใช้เงินประมาณ  50,000 บาท ซึ่งนับว่าสูงมากในสมัยนั้น  แต่ปัจจุบัน แค่ 20,000บาทเศษก็ไปได้แล้ว  เพราะมีสายการบินราคาประหยัด  ห้องพักราคาประหยัด ตั๋วรถไฟราคาประหยัด  ทำให้เดินทางได้บ่อยเท่าที่ใจเรียกร้องนั่นเอง  คนรุ่นใหม่ใช้เงินเดือนแค่ เดือนเดียวก็ไปท่องญี่ปุ่นได้แล้ว  ในขณะที่สมัยก่อนต้องใช้เงินเดือนถึง  3-4 เดือน
                5.มีคนกล่าวว่าอัธยาศัยของคนไทยทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวบ้านเรากันมากมาย  ถ้าจะบอกว่าคนญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน  ลองสังเกตุเวลาเราไปซื้อของเค้าจะห่อของให้ด้วยความประนีต  ตอนทอนตังก็พูดอะไรไม่รู้ยาวชะมัดแต่ว่ารู้สึกดีอ่า     โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านเมืองที่สะอาด  ปลอดภัย  และมีวินัย ก็เป็นตัวปัจจัยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกโสตหนึ่งด้วย
                6.ค่าเงินเย็นที่อ่อนค่าลง  ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลงในการเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น  แถมค่าครองชีพในญี่ปุ่นสิบปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าของราคาเดิม  เพราะว่าเงินเฟ้อในญี่ปุ่นต่ำมากๆจนอาจเรียกได้ว่าบางปีติดลบด้วยซ้ำไป  ตัวอย่างเช่น  เครื่องดื่มโค้กวันนี้ราคาพอๆกับบ้านเราเลยทีเดียวหากซื้อในซุปเปอร์มาร์เก็ต
                     แม้ว่าต้นปี 2562  ญี่ปุ่นได้เริ่มทดลองเก็บภาษีการเดินทางจำนวน 1,000 เยน นักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางออกจากญี่ปุ่นจะต้องจ่าย 1,000 เยนประมาณ 300 บาท   ถ้ามี 30 ล้านคน ก็จะได้เงิน 9,000 ล้านบาท  ซึ่งรัฐบาลจะนำเอาเงินส่วนนี้มาพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยว  เรียกได้ว่าเก็บตังเพิ่มแต่ไม่ลดคุณภาพ  เห็นอย่างนี้แล้วก็หนาวนะครับ   แม้ประเทศไทยจะพัฒนาการท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน  ไม่น้อยกว่า  60 ปีเพราะตอนเด็กๆผมก็เห็นมีองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว  สมัยนั้นชื่อย่อ “ อสท “  แล้วเปลี่ยนมาเป็น การท่องเที่ยว   “ททท”   แต่เราก็ทำงานกันแบบไทยๆ  ค่อยๆไปสโลว์บัทชัวร์ประมาณนี้    
                แต่จากนี้ไปเราจะกินบุญเก่ากันแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้วครับเพราะทุกประเทศ  หันมาเน้นในเรื่อง”ท่องเที่ยว”  กันทั้งนั้น  แล้วใครจะแชร์ส่วนแบ่งได้มากกว่าก็นก็เป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ว่า “ท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะแซงไทยได้จริงหรือไม่”  
          ไทยแลนด์ สู้ๆ ๆๆๆๆ  ก็แค่ทำตามปัจจัยที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ เดินตามความสำเร็จโดยนำปัจจัยมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของประเทศ  อ้อ และก็ห้ามผู้นำหลุดปากบ่อยๆ  ก็พอ  55555  ขำไม่ออก บอกไม่ถูก จร้า


วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2562

“เอฟวัน ฝันเฟื่องหรือไม่?? “




               เมื่อปลายปี 2017 ผมได้มีโอกาสไปชมการแข่งขัน F1   ที่สนามเซปังอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต ประเทศมาเลเซีย  เพราะเป็นความไฝ่ฝันที่จะไปชมอีเวนต์ระดับโลก  ไม่ว่าจะโอลิมปิค ฟุตบอลโลก และ F1   พอไปถึงสนามก็ได้ทราบว่าปีนี้จะเป็นการแข่งขันที่มาเลเซียเป็นครั้งสุดท้าย  ก็เลยคิดว่านัดที่เรามาดูนี้เป็นนัดประวัติศาสตร์   และแน่นอนเหตุผลเดียวที่ขอยกเลิกสิทธิ์การจัดย่อมต้องเกิดจาก  “การขาดทุน” เพราะจัดมา 18 ปี ตั้งแต่ปี 1999 แต่ในปีหลังๆมานี้ยอดขายตั๋วและจำนวนผู้ชมถ่ายทอดสดทางบ้านมีจำนวนลดลงมาโดยตลอด  ขายบัตรเข้าชมได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นเองผมถึงได้ซื้อตั๋วได้กระมัง  นอกจากนี้แล้วเยรมัน เกาหลีใต้ กับ อินเดีย ก็ยังไม่ต่อสัญญาเป็นผู้จัดการแข่งขัน F1  เพราะประสบกับปัญหาการขาดทุนอีกเช่นกัน
                แล้วอะไรเป็นสาเหตุของการขาดทุนในการจัดการแข่งขัน F1  ซึ่งสวนทางกับการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์  ไม่ว่าจะเป็นโมโตจีพี ฯลฯ  ผมขอตั้งสมมุติฐานว่าสาเหตุหนึ่งก็คือ F1” เป็นเรื่องไกลตัว ที่ผู้คนทั่วไปไม่สามารถสัมผัสได้แม้จะชอบความเร็วปานใดก็ตาม  แต่ในขณะที่มอเตอร์ไซค์เป็นอะไรที่ผู้คนจับต้องได้ เป็นเจ้าของได้ มีประสบการณ์ตรง และเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า  จะสังเกตุได้จากยอดขาย “บิ๊กไบค์” รวมทั้งจำนวนคนที่ตายเพราะบิ๊คไบค์ด้วย  เพราะรถมันแรงแซงไปนรกได้ง่ายดาย  อีกอย่างหนึ่งน่าจะเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจด้วย  อำนาจซื้อของประชากรลดลงทั้งในยุโรป อเมริก และเอเชีย  เศรษฐกิจมันซึมๆ  หงอยๆมาหลายปีเป็นคนป่วยเรื้องรังสะสม จากเดิมที่หวังพึ่งพิงผู้ชมต่างชาติเดินทางมาชมการแข่งขัน  แต่จากปัญหาเศรษฐกิจตกสะเก็ดสะสมทำให้ต้องพึ่งผู้ชมในประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งมาเลเซียเองก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน    แล้วอาจจะอีกสาเหตุคือประชากรของมาเลเซียเองมีน้อยแค่  32 ล้านคนเศษเท่านั้นเอง  ก็เลยทำให้จำนวนคนดูน้อยลงไปเป็นลำดับ 
                แล้วทำไม ปี 2020  เวียดนามถึงหาญกล้าไปซื้อลิขสิทธิ์เพื่อจัด F1 ในกรุงฮานอย  โดยจะเป็นการแข่งขันบนถนนโดยมีความยาวทั้งหมด 5.565 กิโลเมตร กับ 24 โค้ง   อะไรทำให้เวียดนามกล้าตัดสินใจลงทุนในครั้งนี้  ทำไมไม่ดูรุ่นพี่ๆทั้งหลายที่ขาดทุนจนต้องเลิกจัด    จะเห็นได้ว่าเวียดนามมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นลำดับต้นๆของอาเซียนแถมยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง  และมีประชากรถึง 95 ล้านคนแม้รายได้ต่อหัวของชาวเวียดนามจะไม่มากเท่ามาเลเซีย  แต่การกล้าเสี่ยงในครั้งนี้ของเวียดนามคงต้องรอดูผลในอีก  4-5 ปี ข้างหน้าว่าจะยืนระยะจัดการแข่งขันต่อเนื่องไปหรือไม่   แล้ว “ช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิตที่ได้รับการรับรองมาตราฐาน  เกรด 1 ของสหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ (FIA)  และผ่านการรับรองสำหรับการแข่งขัน F 1   และ เกรด A จาก  ของสหพันธ์จักรยานยนต์ระหวjางประเทศ (FIM)  จุผู้ชมได้ 50,000 คน  ค่อยตัดสินใจก็ยังไม่สายเกินไปครับ











ขายรัย...ทำไมเราอิน (มาก)

                                                   เครดิตภาพจาก "เฟสบุคไทรสุก"           สองอาทิตย์ก่อนไปเห็นน้องคนหนึ่งที่เป็...