องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้ว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นสัดส่วนเกิน10% หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเกิน 7% ของประชากรทั้งประเทศถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็น 20% และอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็น 14% เมื่อหันมาดูจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยแล้วพบว่า ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน (ร้อยละ 18) นั่นหมายถึงว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าอยู่ในสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้แล้ว ขาดแค่ 2% เท่านั้นเอง
แก่........แล้วงัย ??? ไม่ใช่ได้มาง่ายๆนะครับ ต้องใช้เวลาบ่มเพาะมาถึง 21,900 วัน แถมทุกวันยังต้องพยายามหายใจอีกต่างหาก ไม่เหมือนความสวย ความงาม ไปเกาหลีสามวันได้ดังใจ ดังนั้นจงภูมิใจเถิดที่หายใจมาถึงวันนี้ คำถามต่อไป ........จากวันนี้ ...แล้วงัยต่อ ?? นั่นดิ !! ผมคงไม่กล่าวถึงในเรื่องสุขภาพอนามัย หรือโรคภัยไข้เจ็บ ยกให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขดีกว่า แต่ในฐาแนะ...เอ้ย ฐานะ ที่เป็นหนึ่งในกลุ่ม สว. นี้อยู่ด้วยก็เลยอยากแลกเปลี่ยนว่า “ทำอย่างไรให้มีความสุขในวันที่เป็นผู้สูงอายุ” ดีกว่า เพราะผมเองนั้นเป็นพวกสุขนิยม ลองดูนะครับห้ามดื่มเกินกว่าวันละสองขวดแต่เลียนแบบได้ทุกข้อครับ
***** ขอยกข้อนี้ขึ้นมาเป็นเรื่องแรกเพราะหากเกิดขึ้นแล้วแก้ไขลำบาก หรือแก้ไขไม่ได้เลย ก็คือเรื่องรายได้และการลงทุน หากท่านไม่เดือดร้อนดิ้นรนที่จะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพไป อย่า........อย่า ลงทุนทำกิจการใดๆ เจอมามากแล้วครับที่เอาเงินเกษียณมาลงทุนประกอบกิจการ โดยเฉพาะท่านที่รับราชการมาทั้งชีวิตเอาเงินก้อนสุดท้ายมาลงทุน เพราะถ้าพลาดไปไม่มีโอกาสแก้ตัวครับโดยเฉพาะเรื่องที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยศึกษามาก่อน เช่น การลงทุนทอง อัตราแลกเปลี่ยน ตลาดหลักทรัพย์ เปิดกิจการร้านค้าเพื่อมีกิจกรรมทำ จะได้ไม่ว่างเกินไป ฯลฯ ซึ่งหากผิดพลาดเงินก้อนสุดท้ายก็จะมลายหายไป จนต้องทนทุกข์กับความดิ้นรนจนกว่าจะตาย แต่ถ้าเงินถุงเงินถังแถมลูกหลานมีเงินเป็นคันรถก็ไม่ว่ากัน
***** เบิกบานสำราญใจ ยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย และจิตใจเพราะเราจะมีเวลาว่างมากขึ้น หงุดหงิดไปก็เท่านั้นอย่ายอมให้ใครมาเรียกเราว่า “มนุษย์ป้า” “มนุษย์ลุง” ลูกหลานแยกครอบครัวออกไปแล้ว อาจทำให้เราต้องอยู่คนเดียวหรือกับคู่แท้ของเราจนกว่าจะแยกจากกันในวันสุดท้าย
***** ออกสังคมให้เหมาะสมกับวัย สังขาร ปัจจุบันนี้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆมี โรงเรียนผู้สูงอายุให้ไปร่วมกิจกรรม อย่าหมกอยู่แต่ในบ้านซึ่งจะทำให้เกิดการสะสมของโรคขึ้เกียจ และ ขาดสังคม
***** หากิจกรรม งานอดิเรก หรือ ช่วยเหลือสังคมรอบข้างที่เหมาะสม ที่จะทำให้เรามีความสุขกาย สุขใจ และรู้สึกยังมีคุณค่า
***** อันนี้สำคัญมาก....ยอมรับว่าเราเป็นผู้สูงอายุ ไม่มีตำแหน่งหน้าที่เพราะหลายคนไม่ยอมถอดยศถาบรรดาศักดิ์ เคยเป็นอธิบดี ผู้อำนวยการ ฯลฯ แล้วมันมีอำนาจ พอขาดหายไปแล้วบางคนยอมรับไม่ได้ทำให้หดหู่ และ พฤติกรรมมันจะไปออกแบบเป็น “มนุษย์ลุง/ป้า”
***** ยอมรับความแตกต่าง ระหว่างวัย ระหว่างหน้าที่ ระหว่างความคิด อย่าหมกมุ่นแต่ว่า “ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน” เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากแล้ว และเปลี่ยนเร็วกว่าเมื่อ 100 ปีก่อนหน้านั้นมาก
***** ทำจิตใจให้เบิกบาน มีอารมณ์ขัน ซึ่งจะทำให้เรานั้นเบิกบานทั้งยามเช้า สาย บ่าย เย็น ดึก ดูรายการตลก ฟังพระมหาสมปองบ้าง
***** ปฏิบัติธรรม ทำบุญใส่บาตรตามสมควร ผมไม่ได้ให้ต้องไปอยู่วัด หรือ นั่งสมาธิจนถึงขั้นเข้าฌานได้ คือให้เดินสายกลาง ดังที่พระพุทธองค์ทรงให้ มัชฌิมาปฏิปทา แค่นั้นพอเพราะจะเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจท่านให้ “มีความสุข”
***** พักผ่อน ออกกำลังกาย ที่เหมาะกับวัยและสังขาร ที่เคยวิ่งวันละ 20 กิโล ลดลงเหลือซัก 10ก็ได้ครับ ไม่ต้องแกร่งอยู่ตลอดเวลาก็ได้ครับ “เราแก่แล้ว”
***** รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ ตรวจสุขภาพเป็นระยะๆเพื่อให้สามารถป้องกัน รักษาได้อย่างทันท่วงที
***** ศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ตามสมควร เครื่องมือ/เทคโนโลยี สมัยใหม่ก็สมควรที่จะเรียนรู้และตามโลกให้ทัน แต่คงไม่ต้องถึงกับทันทุกฝีเก้า เรียกว่า “พอคุยกับเขารู้เรื่อง” ก็พอแล้วครับ
***** รู้จักปรึกษาคนอื่นบ้างอย่ามัวแต่คิดว่า เรานั้นสว. เรียนรู้โลก / สังคม มาแยะ มีเรื่องเป็นล้านๆเรื่องที่เราไม่รู้ อย่าไปยึดติดกับอดีตที่เราประสบความสำเร็จมามากมายก่ายกอง
***** สุดท้ายคือยอมรับว่า “สักวันเราก็จะจากไป” แล้วเราฝากอะไรให้แผ่นดิน ????