วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สื่อสารเป็น...จะไม่เห็นหายนะ

 

สื่อสารเป็น...จะไม่เห็นหายนะ

7 ตุลาคม 2564

 



                สุภาษิตโบราณท่านว่าไว้  “ปากเป็นเอก เลขเป็นโท “   แต่ถ้าโม้เป็น “สมรักษ์”  ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะ ตำแหน่ง หรือเป็นใครในสังคมนั้น  ก็จำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการสื่อสารซึ่งจะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง  ที่จะทำให้ภารกิจของคุณนั้นสำเร็จหรือไม่อย่างไร ??   ถ้าอ่านบริบทแค่นี้ก็คงนึกว่าจะเป็นเฉพาะคนที่ต้องใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือหลักสำหรับการประกอบอาชีพ  เช่นพนักงานขาย  นักพูด  ไลฟ์โค้ช  ฯลฯ   แต่....หาเป็นเช่นนั้นไม่  เพราะทุกอาชีพนั้นจำเป็นจะต้องพูดและใช้ทักษะในการพูดเพื่อให้คู่สนทนา คนฟัง  สาธารณะ  หรือ ประชาชน  เชื่อ  คล้อยตาม ปฏิบัติตาม  

                โดยนิยาม   การสื่อสาร (Communication) หมายถึง กระบวนการส่งข่าวสารข้อมูลจากผู้ส่งข่าวสารไปยังผู้รับข่าวสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อชักจูงให้ผู้รับข่าวสารมีปฏิกิริยาตอบสนองกลับมา และคาดหวังให้เป็นไปตามที่ผู้ส่งสาร หรือ องค์กรนั้นๆ ต้องการ  โดยภาษาที่ใช้ในการสื่อสารนั้นแบ่งได้เป็นสองลักษณะ ดังนี้   

               1 วัจนะภาษา (Verbal Communication) หมายถึงการสื่อสารด้วยการใช้ภาษาพูด หรือเขียนเป็นคำพูด ในการสื่อสาร

 2.อวัจนะภาษา (Non-Verbal Communication) หมายถึงการสื่อสารโดยใช้รหัสสัญญาณอย่างอื่น เช่น ภาษาท่าทาง การแสดงออกทางใบหน้า สายตา ตลอดจนถึงน้ำเสียง โทนเสียง ระดับเสียง ความเร็วในการพูด เป็นต้น

ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้นจะต้องประกอบไปด้วยภาษทั้งสองคอยเกื้อหนุนกัน  บางครั้งการพูดว่า”ขอโทษ”  แต่ว่าใช้คำที่ห้วน ดวงตาไม่รู้สึกว่าขอโทษ หน้าตายิ้มสแยะ  แถมต่อท้ายว่า “ขอโทษก็ได้”  เหมือนที่ผู้นำบางคนใช้กันอยู่บ่อยๆ  .....  ซึ่งแน่นอนว่าการพูดหรือเขียนทุกๆครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำ หรือ บุคคลสาธารณะ จำเป็นจะต้องคิดให้ดีก่อนที่จะพูดออกไปอย่าพูดพล่ามไปเรื่อย  ซึ่งดูเหมือนว่าดี  ทั้งๆที่ตนเองไม่มีทักษะในการพูดที่ทำให้คนฟังรู้สึกดี  หรือผู้ที่ไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูด(ก็ได้)  หรืออาจจะตอบคำถามแบบเลี่ยงๆก็ได้   ดังเช่นที่ ท่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้   ท่านไม่ค่อยพูดแต่พูดเฉพาะที่จะเป็นประโยชน์และสื่อสารกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ  ไม่จำเป็นต้องพูดมาก แบบไร้สาระ  จนทำให้บางครั้งก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะสื่อสารจริงๆแบบนั้นเช่น ตอนไปเยี่ยมประชาชนที่ถูกน้ำท่าว  ให้ประชาชนสวดมนต์ /  สร้างบ้านให้ยกสูง ฯลฯ  ซึ่งผมเชื่อว่าท่านไม่ได้มีเจตนาจะสื่อสารอย่างนั้น  แต่ด้วยท่านนายกขาดทักษะและพูดไปเรื่อยๆ (เรียกได้ว่าไม่มีวัตถุประสงค์ที่แท้จริง)  จนทำให้เหตุการณ์กลายเป็นขี้ปากของฝ่ายค้านไป  ถ้าท่านแค่สื่อสารว่ามาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ  ขณะนี้รัฐบาลกำลังทำ 1...2...3...  คาดว่า X วัน น้ำจะลดลงเป็นปกติหากไม่มีพายุเข้ามาใหม่ฯลฯ  รับรองว่าท่านจะได้ใจประชาชนอีกแยะ  ไม่ใช่พูดว่า “ขอให้อดทน ผมเองก็ลำบาก”  พูดแล้วได้ประโยชน์อะไร ??

หลายครั้งท่านก็พลาดอย่างไม่น่าให้อภัย  เช่น ตอนเอาสเปรย์แอลกอฮอลล์ฉีดใส่นักข่าว  ซึ่งผมเชื่อว่าเจตนาท่านต้องการหยอกล้อ  สร้างความเป็นกันเองกับนักข่าว อยากให้คลาดเครียดบ้างเพราะตอนนั้นโควิดระบาดหนักมาก  กลับกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปเสียฉิบ   สิ่งที่อยากจะบอกก็คือทักษะเหล่านี้ไม่สามารถสร้างได้ในระยะเวลาอันสั้น  ต้องฝึกฝน เรียนรู้  ทั้งจากการอ่าน การฟัง และการสังเกตุ จดจำ  และไม่กระทำผิดแบบซ้ำซาก  ซึ่งก็เชื่อได้ว่าทีมงานประชาสัมพันธ์คงจะได้แจ้งให้ท่านทราบ (หรืออาจจะไม่กล้าแจ้ง ???)   เพื่อให้การออกสู่สาธารณะของท่านนั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้รับสารนั้นเกิดความพึงพอใจ  แต่สุดท้ายจะด้วยอะไรก็แล้วแต่  ขอบอกว่า....เรียนรู้และแก้ไข ..คือปัจจัยแห่งความสำเร็จ

                สุดท้ายนี้ขอฝากประเด็น 5.ส. เพื่อความสำเร็จในการสื่อสาร   ดังนี้

                1.สนิท  สร้างความสนิทสนมกับผู้รับสาร  ด้วยการเรียนรู้ รู้จักผู้รับสารในกรณีที่จำนวนคนไม่มาก  หากท่านได้รู้จักชื่อและทักทาย หรือทักผู้บริหาร องค์กร  ผู้นำ ผู้นำชุมชน  หรือ ตัวเด่นๆ ของผู้รับสาร  ก็จะเป็นการสร้างความสนิทสนม  

                2.สนใจ  ต้องสร้างจุดสนใจให้กับผู้รับสาร  เพื่อที่จะได้ติดตามการสื่อสารนั้นให้มีประสิทธิภาพ ต้องดึงให้ผู้รับสารทั้งหมดมุ่งความสนใจมายังผู้ส่งสารและเรื่องราวที่จะสื่อสารนั้น ตัวอย่าง พี่โน้สอุดม ทุกเดี่ยวจะเริ่มต้นด้วย ..”หากพวกเรากำลังสบายจง.....”  ดึงคนมาสนใจบนเวทีแม้จะไม่จำเป็นเพราะคนสนใจมาดูพี่โน้สอยู่แล้ว  และประโยคแรกๆจะต้องเป็นประโยคทองที่ทำให้คนสนใจติดตามตอนต่อไป

                3สาระ  สารนั้นจะต้องมีสาระไม่ใช่พล่ามไปเรื่อยๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  2-3 นาทีแรก  หากมีแต่น้ำท่วมหาสาระมิได้  ก็จะไม่สามารถสะกดผู้รับสารได้จนทำให้การสื่อสารนั้นล้มเหลว  เช่น ไม่ใช่พล่ามแต่ความดีของตนเอง  หรือ พูดไม่ตรงกับเรื่องที่จะพูด  หรือ จับต้นชนปลายไม่ได้เรย

                4.สุข / สนุก  ต้องใส่เรื่องราวหรือตัวอย่างที่เรียกเสียงหัวเราะ หรืออารมณ์ขันได้อย่างพอดี ไม่มากไปน้อยไป  หรือ ใส่ไม่ถูกจังหวะ  เช่น การบอกให้ไปขายยางพาราที่ดาวอังคาร ซึ่งคงต้องการแค่ขำๆ  แต่ท่านเป็นบุคคลสาธารณะและขำผิดจังหวะไป (แยะ)

                5.สัมผัส (ได้)  เรื่องที่จะสื่อสารนั้นจะต้องสัมผัสได้ โดยเฉพาะตัวอย่างที่ยกจะต้องรู้สึกได้ และเป็นนามธรรม  สามารถจินตนาการ  คาดการณ์ได้   ตัวอย่างเช่น การช่วยเหลือประชาชนที่น้ำท่วม  ไม่ใช่พูดแต่ว่ารัฐบาลทำเต็มที่แล้วและดีกว่าปี 2554   แต่ต้องบอกได้ว่าขณะนี้ได้จัดรถจีเอ็มซีของทหารมาสนับสนุนจังหวัดนี้แล้วจำนวน XX คน  พร้อมทั้งกำลังพล YY คน  /  จัดงบให้ หัวละ ZZ บาท โดยใช้งบของ อปถ.  ฯลฯ เป็นต้น  ก็จะทำให้การสือสารนั้นเข้าถึงผู้รับสารอย่างแท้จริง  นั่นเอง..........

 

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564

SOFT POWER พลังที่ยิ่งใหญ่

 



27 กันยายน 2564

                จริงๆแล้วกระแสของน้อง “ลิซ่า” แห่งวงแบล๊คพิงค์นั้นมีมานานพอสมควรแล้ว  แต่มันมาดังระเบิดเมื่อออกเอ็มวีเมื่อ 10 กันยายน 2564  ที่มีผู้เข้าชม 100 ล้านคนเร็วที่สุด ซึ่งใช้เวลาแค่ 49 ชั่วโมง 5 นาที  และก็ทะลุหลายร้อยล้านวิวไปเรียบร้อย  และก็มีการพูดกันถึง SOFT POWER กันมาเป็นระยะๆโดยนัยยะแล้วหากแปลตรงๆก็คงไม่ได้ความหมายที่แท้จริง  เพราะแม้กระทั่งวิกิพีเดียยังแปลว่า “อำนาจอ่อน”  ดังนี้

                อำนาจอ่อน (อังกฤษ: soft power) คือ แนวคิดที่พัฒนาโดยโจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งมีความสามารถในการดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วมมากกว่าการบังคับหรือให้เงิน ในปัจจุบันใช้ในการเปลี่ยนแปลงและสร้างอิทธิพลต่อความคิดของสังคมและประชาชนในประเทศอื่น โดยอาศัยทรัพยากรพื้นฐาน 3 ประการได้แก่ วัฒนธรรม (culture) ค่านิยมทางการเมือง (political values) และนโยบายต่างประเทศ (foreign policies)

 แต่ผมเองขอแหกคอกขอให้คำจำกัดความของ SOFT POWER ว่า  พลังแห่งสุนทรียศาสตร์  เพราะเป็นเรื่องพลังของความงามทั้งในด้าน ศิลป และธรรมชาติ  ซึ่งแต่ละยุคสมัยก็จะปรุงแต่งให้แตกต่างกันออกไป อันรวมถึง  เพลง  ภาพยนต์  กีฬา  ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ ที่สามารถครอบงำความคิด พฤติกรรม ของผู้รับได้อย่างมีนัยสำคัญ    

              เร็วๆนี้เราก็มีนักกึฬาที่เป็น SOFT POWER ให้กับสังคมไทยนั่นคือ  น้องเทนนิส  นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิค โตเกียว 2020   ซึ่งหลังจากที่กีฬาเทควันโดสามารถสร้างปรากฏการณ์โดยโค้ช “ชัชชัย เชว์”  ผู้ที่ทำให้เทควันโดไทยได้เหรีญโอลิมปิคเหรียญแรก  แม้จะเป็นเหรียญทองแดงจาก  เยาวภา บุรพลชัย ในเอเธนส์  ก็ปลุกกระแสความนิยมในการเล่นเทควันโด้กันอย่างแพร่หลาย  มีโรงเรียนสอนเทควันโด้มากมายเกิดขึ้นในประเทศไทย   และยิ่งน้องเทนนิสได้เหรียญทองประวัติศาสตร์ด้วยแล้วก็ยิ่งสร้างความนิยมโดยมี  ฮีโร่นักกีฬาทั้งหลายเป็นต้นแบบให้กับน้องๆเยาวชนทั้งหลาย  รวมทั้งพ่อแม่ก็ส่งเสริมให้บุตรหลานเล่นกีฬาเทควันโด้กันมากขึ้น  

            ซึ่งนับได้ว่ากีฬานั้นนับได้ว่าเป็น SOFT POWER ด้านหนึ่ง  โดยเราจะสังเกตุได้จาก NBA ดึงเหยาหมิง นักกีฬาจีนไปเล่นใน NBA จึงทำให้ NBA ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในจีนอย่างแพร่หลาย  โดยที่ประเทศจีนมีประชากร 1.398 พันล้านคน มีถึง 300 ล้านคนที่เล่นกีฬาบาสเกตบอล และมีถึงกว่าครึ่งของประชากรคือ  800 ล้านคนที่ดูการแข่งขัน NBA แบบถ่ายทอดสด    อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ “เจลีก” ที่เคยมีนักกีฬาไทยสูงสุดถึง 5 คน ไปเล่นในเจลีก  ในฤดูกาล     2019 ถึง 6  คน คือ   ชนาธิป สรงกระสินธ์   ธีราทร บุญมาทัน  ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์  จักรกฤษ ลาภตระกูล (เจ 2)    ณัฐวุฒิ สุขสุ่ม (เจ 3)   ตะวัน โคตรสุโพธิ์ และ พงศ์รวิช จันทวงษ์ (เจ 3)   แม้ฤดูกาลนี้  จะเหลือนักเตะไทยค้าแข้งในเจลีกอยู่เพียงแค่ 2 คนเท่านั้น ก็คือ เจชนาธิป ที่จะอยู่กับ คอนซาโดเล ซัปโปโร เป็นปีที่ 4  กับ  อุ้มธีราทร ที่ยังคงเล่นให้กับโยโกฮามา เอฟ มารินอส ต่อไป  ทำให้คนไทยที่แต่เดิมดูแต่ฟุตบอลอังกฤษ หรือ ยุโรป หันมาดูเจลีกเพิ่มขึ้น  และที่น่าสนใจคืออิทธิพลของพรีเมียลีกของอังกฤษที่มีต่อผู้ชมชาวไทย คงเป็นคำตอบได้ดีถึง  SOFT POWER...

 

 

 

 

ขายรัย...ทำไมเราอิน (มาก)

                                                   เครดิตภาพจาก "เฟสบุคไทรสุก"           สองอาทิตย์ก่อนไปเห็นน้องคนหนึ่งที่เป็...