สื่อสารเป็น...จะไม่เห็นหายนะ
7 ตุลาคม 2564
สุภาษิตโบราณท่านว่าไว้ “ปากเป็นเอก เลขเป็นโท “ แต่ถ้าโม้เป็น “สมรักษ์” ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะ ตำแหน่ง หรือเป็นใครในสังคมนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการสื่อสารซึ่งจะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง ที่จะทำให้ภารกิจของคุณนั้นสำเร็จหรือไม่อย่างไร ?? ถ้าอ่านบริบทแค่นี้ก็คงนึกว่าจะเป็นเฉพาะคนที่ต้องใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือหลักสำหรับการประกอบอาชีพ เช่นพนักงานขาย นักพูด ไลฟ์โค้ช ฯลฯ แต่....หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะทุกอาชีพนั้นจำเป็นจะต้องพูดและใช้ทักษะในการพูดเพื่อให้คู่สนทนา คนฟัง สาธารณะ หรือ ประชาชน เชื่อ คล้อยตาม ปฏิบัติตาม
โดยนิยาม การสื่อสาร (Communication) หมายถึง กระบวนการส่งข่าวสารข้อมูลจากผู้ส่งข่าวสารไปยังผู้รับข่าวสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อชักจูงให้ผู้รับข่าวสารมีปฏิกิริยาตอบสนองกลับมา และคาดหวังให้เป็นไปตามที่ผู้ส่งสาร หรือ องค์กรนั้นๆ ต้องการ โดยภาษาที่ใช้ในการสื่อสารนั้นแบ่งได้เป็นสองลักษณะ ดังนี้
1 วัจนะภาษา (Verbal Communication) หมายถึงการสื่อสารด้วยการใช้ภาษาพูด หรือเขียนเป็นคำพูด ในการสื่อสาร
2.อวัจนะภาษา (Non-Verbal Communication) หมายถึงการสื่อสารโดยใช้รหัสสัญญาณอย่างอื่น เช่น ภาษาท่าทาง การแสดงออกทางใบหน้า สายตา ตลอดจนถึงน้ำเสียง โทนเสียง ระดับเสียง ความเร็วในการพูด เป็นต้น
ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้นจะต้องประกอบไปด้วยภาษทั้งสองคอยเกื้อหนุนกัน บางครั้งการพูดว่า”ขอโทษ” แต่ว่าใช้คำที่ห้วน ดวงตาไม่รู้สึกว่าขอโทษ หน้าตายิ้มสแยะ แถมต่อท้ายว่า “ขอโทษก็ได้” เหมือนที่ผู้นำบางคนใช้กันอยู่บ่อยๆ ..... ซึ่งแน่นอนว่าการพูดหรือเขียนทุกๆครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำ หรือ บุคคลสาธารณะ จำเป็นจะต้องคิดให้ดีก่อนที่จะพูดออกไปอย่าพูดพล่ามไปเรื่อย ซึ่งดูเหมือนว่าดี ทั้งๆที่ตนเองไม่มีทักษะในการพูดที่ทำให้คนฟังรู้สึกดี หรือผู้ที่ไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูด(ก็ได้) หรืออาจจะตอบคำถามแบบเลี่ยงๆก็ได้ ดังเช่นที่ ท่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ ท่านไม่ค่อยพูดแต่พูดเฉพาะที่จะเป็นประโยชน์และสื่อสารกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องพูดมาก แบบไร้สาระ จนทำให้บางครั้งก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะสื่อสารจริงๆแบบนั้นเช่น ตอนไปเยี่ยมประชาชนที่ถูกน้ำท่าว ให้ประชาชนสวดมนต์ / สร้างบ้านให้ยกสูง ฯลฯ ซึ่งผมเชื่อว่าท่านไม่ได้มีเจตนาจะสื่อสารอย่างนั้น แต่ด้วยท่านนายกขาดทักษะและพูดไปเรื่อยๆ (เรียกได้ว่าไม่มีวัตถุประสงค์ที่แท้จริง) จนทำให้เหตุการณ์กลายเป็นขี้ปากของฝ่ายค้านไป ถ้าท่านแค่สื่อสารว่ามาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ขณะนี้รัฐบาลกำลังทำ 1...2...3... คาดว่า X วัน น้ำจะลดลงเป็นปกติหากไม่มีพายุเข้ามาใหม่ฯลฯ รับรองว่าท่านจะได้ใจประชาชนอีกแยะ ไม่ใช่พูดว่า “ขอให้อดทน ผมเองก็ลำบาก” พูดแล้วได้ประโยชน์อะไร ??
หลายครั้งท่านก็พลาดอย่างไม่น่าให้อภัย เช่น ตอนเอาสเปรย์แอลกอฮอลล์ฉีดใส่นักข่าว ซึ่งผมเชื่อว่าเจตนาท่านต้องการหยอกล้อ สร้างความเป็นกันเองกับนักข่าว อยากให้คลาดเครียดบ้างเพราะตอนนั้นโควิดระบาดหนักมาก กลับกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปเสียฉิบ สิ่งที่อยากจะบอกก็คือทักษะเหล่านี้ไม่สามารถสร้างได้ในระยะเวลาอันสั้น ต้องฝึกฝน เรียนรู้ ทั้งจากการอ่าน การฟัง และการสังเกตุ จดจำ และไม่กระทำผิดแบบซ้ำซาก ซึ่งก็เชื่อได้ว่าทีมงานประชาสัมพันธ์คงจะได้แจ้งให้ท่านทราบ (หรืออาจจะไม่กล้าแจ้ง ???) เพื่อให้การออกสู่สาธารณะของท่านนั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้รับสารนั้นเกิดความพึงพอใจ แต่สุดท้ายจะด้วยอะไรก็แล้วแต่ ขอบอกว่า....เรียนรู้และแก้ไข ..คือปัจจัยแห่งความสำเร็จ
สุดท้ายนี้ขอฝากประเด็น 5.ส. เพื่อความสำเร็จในการสื่อสาร ดังนี้
1.สนิท สร้างความสนิทสนมกับผู้รับสาร ด้วยการเรียนรู้ รู้จักผู้รับสารในกรณีที่จำนวนคนไม่มาก หากท่านได้รู้จักชื่อและทักทาย หรือทักผู้บริหาร องค์กร ผู้นำ ผู้นำชุมชน หรือ ตัวเด่นๆ ของผู้รับสาร ก็จะเป็นการสร้างความสนิทสนม
2.สนใจ ต้องสร้างจุดสนใจให้กับผู้รับสาร เพื่อที่จะได้ติดตามการสื่อสารนั้นให้มีประสิทธิภาพ ต้องดึงให้ผู้รับสารทั้งหมดมุ่งความสนใจมายังผู้ส่งสารและเรื่องราวที่จะสื่อสารนั้น ตัวอย่าง พี่โน้สอุดม ทุกเดี่ยวจะเริ่มต้นด้วย ..”หากพวกเรากำลังสบายจง.....” ดึงคนมาสนใจบนเวทีแม้จะไม่จำเป็นเพราะคนสนใจมาดูพี่โน้สอยู่แล้ว และประโยคแรกๆจะต้องเป็นประโยคทองที่ทำให้คนสนใจติดตามตอนต่อไป
3สาระ สารนั้นจะต้องมีสาระไม่ใช่พล่ามไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2-3 นาทีแรก หากมีแต่น้ำท่วมหาสาระมิได้ ก็จะไม่สามารถสะกดผู้รับสารได้จนทำให้การสื่อสารนั้นล้มเหลว เช่น ไม่ใช่พล่ามแต่ความดีของตนเอง หรือ พูดไม่ตรงกับเรื่องที่จะพูด หรือ จับต้นชนปลายไม่ได้เรย
4.สุข / สนุก ต้องใส่เรื่องราวหรือตัวอย่างที่เรียกเสียงหัวเราะ หรืออารมณ์ขันได้อย่างพอดี ไม่มากไปน้อยไป หรือ ใส่ไม่ถูกจังหวะ เช่น การบอกให้ไปขายยางพาราที่ดาวอังคาร ซึ่งคงต้องการแค่ขำๆ แต่ท่านเป็นบุคคลสาธารณะและขำผิดจังหวะไป (แยะ)
5.สัมผัส (ได้) เรื่องที่จะสื่อสารนั้นจะต้องสัมผัสได้ โดยเฉพาะตัวอย่างที่ยกจะต้องรู้สึกได้ และเป็นนามธรรม สามารถจินตนาการ คาดการณ์ได้ ตัวอย่างเช่น การช่วยเหลือประชาชนที่น้ำท่วม ไม่ใช่พูดแต่ว่ารัฐบาลทำเต็มที่แล้วและดีกว่าปี 2554 แต่ต้องบอกได้ว่าขณะนี้ได้จัดรถจีเอ็มซีของทหารมาสนับสนุนจังหวัดนี้แล้วจำนวน XX คน พร้อมทั้งกำลังพล YY คน / จัดงบให้ หัวละ ZZ บาท โดยใช้งบของ อปถ. ฯลฯ เป็นต้น ก็จะทำให้การสือสารนั้นเข้าถึงผู้รับสารอย่างแท้จริง นั่นเอง..........
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น