“ธุรกิจเวลเนส เฮ็ดอย่างไรเด้อ ?? “
31 มีนาคม 2567
ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ที่จัดอันดับในเดือน มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (World Competitiveness Ranking) ของไทยดีขึ้นจากอันดับที่ 33 ในปีก่อนมาอยู่อันดับที่ 30 ในปีนี้จากทั้งหมด 64 ประเทศ ซึ่งแม้จะดีขึ้นแต่ก็คงต้องยอมรับความสามารถของประเทศไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างช้าๆ อันอาจจะเนื่องมาจากปัญหาการเมืองในประเทศที่เกือบ 20 ปีจมปลักกับ ทักษิณและการปฏิวิติรัฐประหาร จากจำนวนประชากรและอัตราการเกิดและตายซึ่งค้นพบว่าสามปีที่ผ่านมา 2564-2566 ประชากรไทยลดลงทั้งสามปี คือมีคนตายมากกว่าคนเกิด จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติว่า “มีลูกกันเถอะ” ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานและยังมีภาระในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในทุกๆปีเป็นสำคัญ
หากมองในแง่การผลิตและอุตสาหกรรมแล้วต้องยอมรับว่าเราสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยดูได้จากอัตราการเติบโตและความเชื่อมั่น และ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ Manufacturing Production Index (MPI) คือ ดัชนีสะท้อนค่า GDP ในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ที่แสดงถึงความถดถอยเป็นลำดับ แต่มีดัชดีและอุตสหาหกรรมบางประเภทที่ยังเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
คำตอบถูกต้องแล้วครับ คือ “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ซึ่งในปี 2567 ช่วงสามเดือนแรก 1 มกราคม-10 มีนาคม 2567 พบขณะนี้ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทยทะลุ 7.4 ล้านคนแล้ว สร้างรายได้ ประมาณ 359,273 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในปี 2568 เราจะมีนักท่องเที่ยวเท่าๆกับก่อนสถานการณ์โควิดคือในปี 2562 ที่เรามีนักท่องเที่ยวเฉียดๆ 40 ล้านคน ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปอีกก็จะค้นพบว่าการท่องเที่ยวนั้น เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม “Wellness Industry” หรืออุตสาหกรรมความงามและการดูแลสุขภาพ แต่ผมจะใช้คำว่า “อุตสาหกรรมแห่งความสุข” Wellness = Well being = Happyness ซึ่งสถาบัน Global Wellness Institute (GWI) รายงานว่าปี 2568 มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพของทั้งโลก จะมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 230 ล้านล้านบาท และอุตสาหกรรมนี้ยังแบ่งได้เป็น 9 อุตสาหกรรมย่อย 12 สาขา ดังนี้
CR ภาพ : Global Wellness Institute
แล้วปัจจัยแห่งความสำเร็จของธุรกิจเวลเนสคืออะไร โดยผมขอแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ABS STRATEGY คือ
1.AWARENESS & ATTENTION ซึ่งจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ทางด้านการตลาด ในการสร้างการรับรู้ว่ามีอยู่ของธุรกิจและบริการของเรา ด้วยเครื่องมือทางการตลาดต่างๆที่ตรงกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งสาร หรือ สื่อ นั้นๆจะต้องสร้างความน่าสนใจและหยุดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ดู ฟัง จดจำ และสนใจ ธุรกิจและบริการของเรา เพราะทุกวันนี้มีสื่อมากมายที่ผ่านเข้ามาในโสตประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สื่อยูทูบ อยากถามว่าใครดูโฆษณายูทูปจนจบบ้างซึ่งสื่อนี้ตรงกลุ่มเป้าหมายแน่นอน แต่จะตรึงผู้ชมให้ดูจนจบและสนใจในสินค้านั้นคงต้องใช้มืออาชีพในการสร้างคอนเทนท์เพื่อหยุดผู้ชมในการ “กดข้าม”
2.BELIVE / TRUST เมื่อสนใจแล้วไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ว่าสินค้าและบริการนั้นน่าเชื่อถือ ธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีแต่ เฟสบุค แฟนแพจ และไลน์ ขาดหน้าร้านที่จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือหรือให้ข้อมูลทางเทคนิค ฯลฯ ที่จะทำให้ลูกค้าเชื่อ ศรัทธา และตัดสินใจได้ เพราะการมีเว็บไซท์ ที่อยู่ ที่ติดต่อได้อย่างเป็นทางการเปรียบเสมือนเรามีตัวตนจริงๆ และในเว็บไซท์นั้นยังสามารถมีข้อมูลเพิ่มเติม ภาพประกอบ คลิปอธิบายความ ข้อมูลลูกค้าเก่าที่เคยใช้บริการ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ตัดสินใจเชื่อและศรัทธา จนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อในที่สุดได้
3.SERVICE MIND จิตบริการในที่นี้มิได้หมายความว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่บริษัทกำหนด แต่หมายถึงผู้ให้บริการนั้นสามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้า ณ. ขณะนั้นๆได้ ตีความหมายบทสนทนา และดูบริบทโดยรวมเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เช่น คอลเซนเตอร์ของผู้ให้บริการโทรศัทพ์เคลื่อนที่รายหนึ่งตอบคำถามได้หมด ให้ข้อมูลถูกต้อง ในเวลาที่สมควร (แม้จะช้าไปบ้างเป็นส่วนใหญ่) แต่ผู้ให้บริการอีกรายหนึ่งในหน้าจอคอมพิวเตอร์จะขึ้นข้อมูลว่าลูกค้าเพิ่งเดินทางไปอินโดนีเซียมา ก่อนจบบทสนทนาก็สอบถามว่าที่เดินทางไปอินโดนีเซียสัญญาณการให้บริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตเป็นอย่างไรบ้าง ?? โอ้ย..... เราจะปลื้มหรือไม่ครับ หรือ หากเราไปใช้บริการสปาแล้วพนักงานซึ่งตามที่บริษัทกำหนดก็จะต้องบริการด้วยความสุภาพ สุภาพเรียบร้อย บริการครบทุกขั้นตอนอย่างเป็นมาตราฐานเดียวกัน แต่ พนักงานที่สปาแห่งนี้จำได้ว่าข้อนิ้วเท้าเราจะต้องนวดเบาๆเพราะเราเป็น “เก๊าต์” ...... ก็สอบถามว่าหายหรือยังจะคงยังให้นวดเบาๆอยู่อีกหรือไม่ ?? อันนี้แหละ จะทำให้ “เก๊าต์ประทับใจ” จน ไปบอกต่ออย่างแน่นอน .......อิอิ ไม่เชื่อลองดู........