วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

มาเร็ว เคลมเร็ว....ไปเร็ว(ชั่วข้ามคืน)

 




                การสร้างแบรนด์  การสร้างยอดขาย และการสร้างความน่าเชื่อถือศรัทธา  ต้องให้สรรพกำลัง กลยุทธ์  งบประมาณ บุคคลากร มันสมอง  ฯลฯ ที่สำคัญที่สุด คือ  “เวลา”    กว่าที่ลูกค้าจะเชื่อถือ ศรัทธา และใช้สินค้าของบริษัท  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความภักดีต่อตราสินค้า    แต่แล้วบางครั้งการตัดสินใจที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียว   ก็สามารถทำให้ปราสาททราย  (ที่มิใช่ SAND BOX  หุหุ  ...ซักหน่อย  )   แต่มันคือตำนานของบริษัท หรือองค์กร ต้องล่มสลายได้เพียงชั่วข้ามคืน

            ถ้าพูดถึงคำว่า  “มาเร็ว...เคลมเร็ว”  ร้อยทั้งร้อยจะนึกถึง “สินมั่นคงประกันภัย” เพราะเป็นโฆษณาที่เจาะใจลูกค้า  โดยเข้าถึงความรู้สึกของลูกค้าว่ามีการรับรู้ถึงความหงุดหงิดใจในการรอประกันภัยมาตรวจสอบและเคลมในที่เกิดเหตุ   และแน่นอนว่าเมื่อสื่อสารไปแล้วสามารถทำได้ตามสารที่สื่ออกไปก็ทำให้มีลูกค้ามาซื้อบริการอย่างมีนัยสำคัญ  จนเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาการสร้างแบรนด์และการจดจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            แต่แล้ววันที่ 16 กรกฏาคม 2564   คงเป็นวันที่ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น และประชาชนคนไทยทุกคนทั้งที่เป็นลูกค้า และไม่ได้เป็นลูกค้า  ก็จะจดจำ “สินมั่นคง” ไปตลอดกาล  ด้วยความผิดพลาดของบริษัทเอง ที่ประกาศยกเลิกความคุ้มครองประกันภัยโควิด    และยิ่งไปกว่านั้นยังคืนเงินแค่ระยะเวลาที่เหลืออยู่    ในหน้าเฟสบุ้คของบริษัทเองว่า

            สินมั่นคงประกันภัย ขออภัยลูกค้าเป็นอย่างสูงที่แจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนาแบบ เจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 IN 1 ท่านสามารถอ่านรายละเอียดการขอคืนเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smk.co.th/covidna.aspx

            เท่านั้นแหลครับหายนะมาเยือนข่าวนี้มีการส่งต่อ  มีการวิจารณ์  มีการก่นด่า  ฯลฯ ในความเห็นแก่ตัว และประโยชน์ของบริษัทอย่างหาที่สุดมิได้  เปรียบเสมือนการ “ฆ่าตัวตาย “ ทางธุรกิจ  เพราะมันเหมือนเจ้ามือหวยใต้ดินที่พอเวลาแทงไม่ถูกเจ้ามือกินรวบ  คือปีก่อนระบาดน้อยไม่ต้องจ่ายความคุ้มครองแยะก็กำไรไป  โดยอาศัยเลขยอดนิยม  “โควิด19”  คนแทงแยะแต่ไม่ถูกเจ้ามือก็รวยไป   แต่พอปีนี้หวยออกก็คือระบาดหนักต้องจ่ายความคุ้มครองแยะน่าจะขาดทุน  ก็ดันมายกเลิกคืนเงินที่แทงไปเฉย  แต่แทนที่จะคืนเงินทั้งหมดดันคืนแค่ระยะเวลาที่เหลืออยู่  มันจะเอาเปรียบเกินไปอย่าทุเรศที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา 

            ทำไมไม่รอให้กรรมธรรม์หมดอายุไปเพราะกรรมธรรม์เหล่านี้มีอายุเพียงปีต่อปี  แล้วไม่เปิดขายอีกเหมือนที่บริษัทวิริยะประกันภัยดำเนินการ  แน่นอนการทำอย่างนี้อาจจะทำให้บริษัทขาดทุน ไปสมมุติว่าให้แบบสุดๆ  100 ล้าน   ซึ่งมันเป็นความเสียหายแค่ในปี 2564 ที่ในอนาคตก็สามารถทำกำไรมาชดเชยได้ในที่สุด    

            แต่.......การกระทำอย่างนี้จะทำให้ขาดทุนไปตลอดการ และอาจจะถึงจุดจบของกิจการได้ในที่สุด  เพราะธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่ลูกค้าต้องซื้อด้วยความน่าเชื่อถือของบริษัทเป็นสำคัญ  เพราะเราซื้อความเสี่ยง  และความเชื่อว่าหากเป็นอะไรไปบริษัทประกันจะดูแลและรักษาสัญญาที่ให้ไว้ต่อกันั่นเอง

            ในเวลาเดียวกันก็มีหลายบริษัทได้ออกมาดำเนินกิจกรรมที่เรียกว่า  Reverse Marketing  การตลาดย้อนกลับ หรือ   คิดแบบย้อนศร  คือการพลิกมุมมองของลูกค้าในคุณค่าที่แสวงหา  และคุณค่านั้นคือองค์กรแบรนด์นั้นนั่นเอง   ในกรณีก็คือ การที่บริษัทประกันทั้งหลายไม่ว่า จะเป็น เอไอเอ  กรุงเทพประกันภัย  เอฟดับบลิวดี  เมืองไทยประกันภัย  ไทยประกันภัย  **เชื่อแป้ง แอบโฆษณาให้เรย   ฯลฯ  กลับออกมาประชาสัมพันธ์ว่า  “เราไม่มีนโยบายยกเลิกความคุ้มครอง”  แต่จะรับต่ออายุหรือไม่ หรือขายประกันภัยนี้ต่อหรือไม่  ไม่ได้บอกไว้ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

            ดังนั้นผู้บริหารและนักการตลาดทั้งหลายต้องคิดให้รอบคอบทุกครั้งที่จะดำเนินกิจกรรมใดๆ  เพราะว่าวันนี้  “การหาลูกค้าใหม่ที่เรียกว่ายากแล้ว   การรักษาลูกค้าเก่าให้ยังอยู่กับบริษัทยิ่งยากกว่า” ...... และคู่แข่งพร้อมที่จะแย่งชิงลูกค้าไปจากเราทุกวินาที   อย่าให้แค่   “มาเร็ว  เคลมเร็ว และไปเร็ว “ ในชั่วข้ามคืน  เพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาดเช่นนี้อีกเรย  ......อาเมน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขายรัย...ทำไมเราอิน (มาก)

                                                   เครดิตภาพจาก "เฟสบุคไทรสุก"           สองอาทิตย์ก่อนไปเห็นน้องคนหนึ่งที่เป็...