การท่องเที่ยวไทยเดี้ยงสนิทศิษย์ส่ายหน้า ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเพราะเป็นที่คาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ แต่ที่คาดผิดคือไม่คิดว่ามันจะนานขนาดนี้ นับจากมีนาคม2563 ซึ่งประกาศภาวะฉุกเฉินอันเนื่องจากระบาดโควิด-19 นับถึงปีใหม่ก็ 22 เดือนเต็ม ธุรกิจท่องเที่ยวไทยตายสนิทเพราะนักท่องเที่ยวที่เคยมีในปี 2562 ถึง 39 ล้านคน ลดเหลือ 6.7 ล้านคนในปี 2563 และ คาดว่าในปี 2564 นี้คาดว่า 1 ล้านคนเศษแม้จะเปิดประเทศเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาก็ตาม
เราได้เห็นความพยายามเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมที่มีต้นทุนในการลงทุนและการบริหารงานที่สูง หลายโรงแรมก็ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้อย่างน่าชื่นชม เพราะสิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยหนึ่งของโรงแรม และธุรกิจบริการทั้งหลายคือ “ไม่ใช่มันหายไป” การปล่อยให้ห้องพัก หรือ ร้านอาหาร ฯลฯ นั้นอยู่ว่างๆก็จะขาดรายได้แถมมีค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่าย ไม่เหมือนกับสินค้าอื่นๆเพราะมันสามารถเก็บเป็นสต้อก ผลิตเก็บไว้ก็ยังได้ถ้าคาดว่าอีกระยะหนึ่งจะมีคำสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งในเรื่องแนวคิดนี้ผมได้เคยพูดไว้ตั้งแต่เริ่มสอนนิสิตป.โท สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจรุ่นที่ 1 เมื่อ 28 ปีที่แล้ว ดังนั้นการสร้างรายได้แม้เพียงน้อยนิดเรียกได้ว่าให้คุ้มกับต้นทุนผันแปรของบริการนั้นๆ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้อยู่เฉยๆเพราะไม่อย่างนั้นมันหายไปตามเวลาที่ผ่านพ้นไปนั่นเอง แถมยังต้องจ่ายค่าใช้จ่ายประจำเช่นเงินเดือนฯลฯ อยู่ดี
ช่วงปี 2563 โรงแรมระดับ 5-6 ดาวคงยังไม่เห็นสัจธรรมในข้อนี้และคงคิดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นในปี 2564 แต่ที่ไหนได้มันลากยาวมาจนถึงปัจจุบันนี้ ทำให้ในปีนี้หลายโรงแรมซึ่งเรียกได้ว่าระดับ 5-6 ดาวที่เดียวได้จัด “โปรกระแทกใจ” ที่ทำให้ “อดใจไม่ไหว” แต่มิใช่การนำห้องพักที่ราคา 4-6 พันบาทมาเร่ลดราคาเหลือ 1-2 พัน อันจะเป็นการทำให้ภาพลักษณ์ของโรงแรมเสียไป และยังได้เงินน้อยลงเท่ากับราคาที่ลดลงเท่านั้นเอง แต่มีสิ่งที่แยบยลเพราะไม่ได้ทำให้โครงสร้างราคาของโรงแรมเสียไป จึงได้จัดขายอาหารและแถมห้องพัก หรือ ขายห้องพักและแถมเครดิตอาหาร อันนี้จะทำให้ได้เงินมากขึ้นกว่าการลดห้องพักโดดๆ
ตัวอย่างที่ผมเองได้ไปสัมผัสมาเองถึงสองโรงแรม คือ แชงกรีล่า ผมชำระค่าห้อง 3,900 บาท ได้ห้องพักหนึ่งคืนและเครดิตเงินในการใช้บริการต่างๆไม่ว่าจะเป็นอาหาร สปา ฯลฯ จำนวนเงิน 2,500 บาท เสมือนค่าห้องแค่ 1,400 บาท หักอาหารเช้าสองคนฟรีไป 800 ก็แล้วกัน สรุปค่าห้องแค่ 600 บาท เลยจัดไปสองห้อง แล้วเป็นงัยตอนกินอาหารหมดได้ 8,000 กว่าบาทได้เครดิตมา 5,000 บาท เลยต้องจ่ายเพิ่มไปอีก 3,000 บาท นอกจากนี้แล้วยังปิดจุดอ่อนของการเข้าพักโรงแรมได้ซึ่งปกติจะเช็คอินได้ บ่ายโมงหรือบ่ายสองโมงและเช็คเอ้าท์ไม่เกินเที่ยงเลทได้สุดก็บ่ายสอง อันนี้เนื่องจากโรงแรมมีห้องว่างมากก็เลยจัดไปว่า เช็คอินได้ 8 โมงเช้า เช็คเอ้าท์ได้ถึง 20.00 น. สบายไป อย่าลืมว่าถ้าเช็คเอ้าท์สองทุ่ม ต้องกินกลางวัน หรืออาจจะแถมถึงมือเย็นได้อีกหรือไม่อย่างไร ????
อีกโรงแรมหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปใช้บริการคือ บันยันทรี จ่ายไป 2,699 บาท ได้ดินเนอร์สองที่ แต่ไฮไลท์มันอยู่ที่อัพเกรดห้องพักเป็นห้องสวีท รวมอาหารเช้าอีกสองคนเป็นอย่างไรละเป็นครั้งแรกที่ได้นอนห้องสวีทขนาดน่าจะมากกว่า 100 ตรม ล่าสุดจัดหนักเข้าไปอีกมีโปรโดยจองกับทางฮังกรีฮับซึ่งเป็นแอปที่ใครไม่มีไม่ได้เรยโดยเฉพาะสายติดโปร ซื้อคูปอง 5,000 บาท สำหรับห้องอาหารจีนและจะได้คูปองห้องพักซึ่งถ้าพักวันธรรมดาจะอัพเกรดเป็นห้องสวีทเช่นกัน แต่ตอนไปกิอาหารดิมซัมสี่คนจ่ายไป 7,000 กว่าบาท หักคูปองที่ชำระแล้วก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 2,000 บาท
และทั้งสองโรงแรมนี้ปรากฏว่าแต่วันมีคนไทยเข้าไปเช็คอินกันวันละเป็นร้อยห้อง ศุกร์เสาร์ ก็เรียกได้ว่าหลายร้อยเลยทีเดียว ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติที่พักอาศัยหรือทำงานในประเทศไทย เพราะตอนทานอาหารเช้าเห็นมีต่างชาติไปกินเลยเข้าไปทักทายจึงได้ข้อสรุปได้ว่า “อดใจไม่ไหว” จริงๆๆๆ เน้อพี่น้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น