วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

“อย่าซ้ำเติม..ท่องเที่ยว..ไทย”


     
CR::/www.marketingoops.com

             เศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2560-2561 สองปีนี้คงไม่สามารถเติบโตได้ขนาดนี้  หากขาดซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวหรือหากนักท่องเที่ยวลดน้อยถอยลงแล้วก็เชื่อได้ว่า  คงกระทบกับหลายๆธุรกิจอย่างแน่นอนไม่ว่าจะเป็นบันเทิง  โรงแรม  ของที่ระลึก (ค้าปลีก)   ซึ่งในปี 2560  อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งต่างชาติ และไทยเที่ยวไทย   สามารถสร้างรายได้ถึง 2.76 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20 % ของ GDP คือเป็นหนึ่งในห้า ของ GDP ซึ่งอันตรายมาก  เพราะหากอุตสาหกรรมนี้มีปัญหาขึ้นมาก็จะกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม  ท่านยังจำได้หรือไม่ครับสามสิบปีที่แล้วประเทศไทยมุ่งส่งออกๆๆๆ   พอส่งออกเดี้ยงไทยก็เดี้ยงด้วยจนเป็นไข้ไปหลายปี   

และหากแยกเป็นส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งเป้าจำนวนไว้ที่นักท่องเที่ยว 35 ล้านคน  ซึ่งปี2561นี้ก็ยังสามารถเติบโตได้อย่างมีนัยะสำคัญ  คือจำนวนนักท่องเที่ยวเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม  เพิ่มจาก 23.5 ล้านคน เป็น 25.8 ล้านคนในปี 2561  เพิ่มถึง  9.94 %  โดยนักท่องเที่ยวจีน เพิ่มจาก 6.6 เป็น 7.7 ล้านคน เพิ่มถึง 16.5%   ดูแล้วคงทำได้ตามเป้าที่ 35 ล้านคนอย่างแน่นอน  โดยมีเป้าหมายด้านรายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.1 ล้านล้านบาท  รวมไทยเที่ยวไทยอีก 1.0 ล้านล้านบาท  รวมเป็น 3.1 ล้านล้านบาท

แต่ต้นเดือนตุลาคมนี้มีข่าวเล็กๆข่าวหนึ่งซึ่งคนไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเสียเท่าใด  คือข่าวว่า”โกลเด้นวีค”  คือช่วงวันชาติจีน 1-7 ตุลาคมของทุกปีจะเป็นวันหยุดยาวในประเทศจีนคล้ายสงกรานต์บ้านเรา  ซึ่งคนไม่มีสตางค์ก็เที่ยวในประเทศ  แต่คนมีสตางค์ก็ท่องเที่ยวต่างประเทศเหมือนบ้านเราเปี๊ยบเรย ซึ่งปี 2561 คนจีนเดินทางท่องเที่ยวช่วงนี้ถึง 700 ล้านคน (ครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ)    ทุกปีประเทศไทยจะครองสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวมากที่สุด   แต่ปรากฏว่าในปี 2561 นี้ (เฉพาะช่วง โกลเด้นวีคนี้)  นักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวญี่ปุ่นมากกว่าประเทศไทย  หลายคนอ่านผ่านๆคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรสำคัญ  แต่สำหรับผมแล้วมันเหมืนเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งหรือไม่ ???

เพราะมีเหตุการณ์หลายอย่างที่มากระทบกับนักท่องเที่ยวจีน  ไม่ว่าจะเป็นเรือฟีนิกซ์ล่มเมื่อเดือน กรกฏาคม 2561 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตถึง 33 คน แถมท่านรองนายกประวิตร  วงษ์สุวรรณยังไปให้สัมภาษณ์ว่า  "คนจีนเป็นเป็นคนนำนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา เป็นเรื่องของนักท่องเที่ยวเขา เขาทำของเขาเอง เขาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เราจะให้ไปเรียกความเชื่อมั่นได้อย่างไร"  แม้เป็นเรื่องจริงก็สมควรพูดหรือไม่ทำให้งานงอกต้องออกมาขอโทษขอโพยกันยกใหญ่    เหตุการณ์ต่อมาพนักงานรักษาความปลอดภัยตบนักท่องเที่ยวจีน  เข้าใจได้ว่านักท่องเที่ยวคงทำอะไรผิดพลาดแต่การกระทำเช่นนั้นสมควรหรือไม่ ?? 

ล่าสุดเมื่อเช้านี้  (11 ตุลาคม 2561)  มีข่าวว่านักท่องเที่ยวจีน (อีกแล้วครับท่าน) ถูกปรับทิ้งขยะในที่สาธารณะถึง 2.000บาท  แต่ไกด์แก้ใบเสร็จเป็น 3,000 บาท  เอ......ว่าแต่ว่าแค่ทิ้งขยะถึงแม้ว่ากฎหมายเขียนไว้ให้ปรับได้สูงถึง 2,000 บาท  เราปรับ 500 ก็ได้มิใช่หรือ ??  คำถามคือมันมากไปหรือไม่  และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างเป็นธรรมทั่วถึงหรือไม่อย่างไร    แถมไกด์ทั้งไกด์ไทยไกด์จีนยังไปแก้ใบเสร็จซ้ำเติมความรู้สึกนักท่องเที่ยวจีนจริงๆ   เหมือนเป็นกรรมซัดวิบัติของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจริงๆ   ก่อนหน้านั้นนานแล้วหลายท่านคงได้เห็นคลิปที่น้องผู้หญิงสวมพวงมาลัยให้นักท่องเที่ยวจีนยิ้มหวาน  พอนักท่องเที่ยวเดินผ่านไปก็สแยะปากแบบประมาณว่า   ตรู.....เบื่อ...เซ็งโว้ย....หรือการประนามนักท่องเที่ยวจีนที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ทางโลกออนไลน์ซึ่งเดี่ยวนี้ด้วยเทคโนโลยี่มันแปลเป็นภาษาจีนได้   แถมนักท่องเที่ยวอินเดียถูกลูกหลงของการประทะกันของสองแก๊งค์ที่ย่านประตูน้ำ   ดูหน้าญาติที่รับมอบเงิน 1 ล้านบาทจากตำรวจท่องเที่ยวแล้วคงได้คำตอบว่าเงินไม่สามารถซื้อได้ทุกสิ่ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตของญาติ เพื่อน และครอบครัวของนักท่องเที่ยว     และด้วยพลวัตรของเทคโนโลยี่ทางสังคมทำให้เรื่องเหล่านี้กระจายไปอย่างรวดเร็ว  และอยู่ยงคงกระพันในยูทูป  ในโลกออนไลน์วันดีคืนดีมันก็กลับมาหลอกหลอนอยู่ร่ำไป

ปีนี้และปีหน้าคงเป็นปีที่จะทดสอบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี  เพราะต้องเผชิญความท้าทายหลายอย่าง  ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันของประเทศต่างๆที่พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยว  เช่น ญี่ปุ่น นีกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าให้คนจีนฟรีวีซ่าแบบคนไทยแล้วอะไรจะเกิดขึ้น   เวีดยนามที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวพัฒนาอย่างรวดเร็ว    อินโดนีเซียที่เพิ่งเริ่มต้นพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  ซึ่งมีแหล่งท่องเทียวที่หลากหลายรอการพัฒนา  เพราะเป็นเกาะแก่งนับพันเกาะ  ความแตกต่างกันของชนเผ่า วัฒนธรรมและ ความหลากหลายทางชีวภาพให้คอยค้นหาและเยี่ยมเยือน   นอกจากนี้แล้วยังมีปัจจัยอื่นๆอีกไม่ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน  หากกระทบยาวนานคงทำให้เศรษฐกิจจีนมีผลกระทบ  ซึ่งก็จะไปกระทบกับการสร้างงานและรายได้ของคนจีน  แล้วก็จะมากระทบกับการท่องเที่ยวในที่สุดได้   รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินคราต่างประเทศเพราะหากค่าเงินจีนแข็งค่าขึ้นก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวสูงขึ้นจนมีผลกระทบได้อีกเช่นกัน

                แต่อย่างไรก็ตา
มสิ่งต่างๆเหล่านั้นเป็นปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันทุกด้านไม่ว่าจะเป็น  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว  การพัฒนาด้านการบริการ  และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ   เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนี้ยังคงมีมนต์ขลังต่อไป

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เศรษฐกิจรุ่งเพราะมุ่งกีฬา


                 



                           ตอนผมเด็กๆเมื่อซัก 50 กว่าปีก่อนนี้มีหนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับ  แต่ละฉบับก็จะหน้าบันเทิง  และ หน้ากีฬาเป็นองค์ประกอบของหนังสือพิมพ์รายวัน 1-2 หน้า   จนปัจจุบันมีเซ๊คชั่นกีฬาอยู่หลายหน้าและมีหนังสือพิมพ์กีฬาโดยเฉพาะ   มันบอกอะไรเราบ้างครับ   1.มีคนสนใจในการเสพสื่อบันเทิงและกีฬาในปริมาณที่มากอย่างมีนัยยะ   2.เมื่อมีคนสนใจมากๆแน่นอนการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจก็ย่อมมากตาม   เพราะมีการซื้อขาย  จับจ่ายใช้สอยในอุตสาหกรรมนั้นๆ  แต่เมื่อหลายสิบปีก่อนการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอาจไม่มากและมีนัยสำคัญอย่างเช่นในปัจจุบัน
                ทุกวันนี้อุตสาหกรรมกีฬามีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย  จะเห็นได้จากมุมมองของภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมกีฬา  โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนาคุณธรรม และจริยธรรม   ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ   ซึ่งมีข้อสรุปในเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬา (Sports Industry  Promotion )  ออกมาเป็นเอกสารเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในภาครัฐและส่งเสริมการประกอบการของภาคเอกชน    ซึ่งอ่านแล้วอาจจะงงๆเพราะเป็นภาษาราชการถึง 90 กว่าหน้า  แต่นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐมองเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนและยอมรับว่ากีฬาเป็น “อุตสาหกรรม” ชนิดหนึ่ง  มิใช่แค่เป็นเครื่องมือในการออกกำลังกาย  ลัลล้าเท่านั้น
                ขนาดของอุตสาหกรรมกีฬามีขนาดใหญ่โดยประเมินกันว่ามีขนาดตลาดรวมทั่วโลกถึง 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา   แน่นอนว่าตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ในสหรัฐอเมริกา  ซึ่งมีขนาดตลาดประมาณครึ่งหนึ่งของขนาดตลาดกีฬาในโลก  คือ 200,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา  ส่วนขนาดตลาดอุตสาหกรรมกีฬาในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดได้ทำการศึกษาอย่างจริงจัง  คงต้องขอให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หรือ  ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจของหอการค้าไทย  ลองช่วยประเมิณขนาดของอุตสาหกรรมกีฬาในบ้านเราดูอย่างเป็นทางการเสียที  เพราะที่ผ่านมามีแต่การประเมิณว่าประมาณ 80,000 ล้านบาท  ซึ่งผมคิดว่ามันน้อยกว่าความเป็นจริงอยู่พอประมาณ   เพราะลองนึกเล่นกันดูว่าเอาแค่  “การวิ่ง”  ซึ่งแต่ละปีมีการวิ่งรวมกันแล้วประมาณ  2,080 รายการ  (มาจาก สัปดาห์ละ 40รายการคูณด้วย 52)  มีนักวิ่งรายการละ  3,000 คน (ค่ากลางๆ ซึ่งบางรายการมีนักวิ่งเป็นหมึ่นคน เช่น บางแสน 21 / บุรีรัมย์ / สวนผึ้ง  เป็นต้น )  ก็จะมีนักวิ่งเข้ารวมจำนวน   6.24  ล้านคน   คนละ 500 บาท  ก็จะมีมูลค่าถึง 3,120 ล้านบาทแล้ว     นี่ยังไม่รวมไทยลีค 1 ปีนี้ 2018 ซึ่งแข่งไป 26 นัด(ยังเหลืออีก 8นัด)  มีผู้ชมทั้งสิ้น 1.018 ล้านคน  ไม่รวมเงินเดือนนักเตะ 18 ทีม (เฉพาะไทยลีค 1)  หากรวมนักเตะ  ค่าใช้จ่ายในการทำทีมของทีมไทยลีกทั้ง 1-4  และค่าถ่ายทอดลิขสิทธิ์ซึ่งขณะนี้ทรูวิชั่นเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์ตกปีละ 1,000 ล้านบาท คงจะหลายพันล้านบาททีเดียว   ซึ่ง “ฟุตบอล”  มีขนาดของตลาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมกีฬาในประเทศไทย   ซึ่งหากรวม  จักรยาน โยคะ  ฟิตเนส  กีฬาอื่นๆ   ส่วนเสื้อผ้า อุปกรณ์  รองเท้ากีฬา ซึ่งประเมินว่าประมาณ 100,000 ล้านบาท   ฯลฯ    ก็คงมีขนาดตลาดโดยรวมซึ่งผมเชื่อ (เป็นความเชื่อส่วนตัว โปรดใช้วิจารณญาณ)  ว่าขนาดของอุตสาหกรรมกีฬามีขนาดมากกว่า 200,000-300,000  ล้านบาทแน่นอน     
                แถมตลาดอุตสาหกรรมกีฬานี้มีการเติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  โดยไม่ต้องไปดูในเรื่องการเติบโตของ  GDP  แน่นอนรายได้ต่อหัวของประชากรมีผลต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมกีฬาและทุกๆอุตสาหกรรม    แต่เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปคำนึงถึงสุขภาพ  และ แฟชั่นมากขึ้นตลอดจนสื่อสังคมอีเลคโทรนิคทั้งหลาย  มีส่วนช่วยทำให้อุตสาหกรรมกีฬานี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง  ครั้งหน้าเรามาต่อกันในเรื่อง  “องค์ประกอบของอุตสาหกรรมกีฬา”  และ “การตลาดกีฬา”   พาชาติรุ่ง  (ไม่ริ่งแน่นอนครับ)...!!!

“การเติบโตของอุตสาหกรรมกีฬา”





    
ในตอนที่แล้วผมได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมกีฬา  ที่นับวันจะมีขนาดของตลาดในอุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นทุกปี  ซึ่งในตอนนี้จะได้มาลงรายละเอียดกันว่าทำไมอุตสาหกรรมนี้ถึงได้เจริญเติบโต ดังต่อไปนี้

                1.รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรไทย  และ ประชากรโลกเปลี่ยนเพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์  จะเห็นได้ว่าประเทศที่อุตสาหกรรมกีฬาเติบโตอย่างมาก  มีขนาดใหญ่โตที่สุดคือสหรัฐอเมริกานั้นมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว คือ 59,501 เหรียญสหรัฐ เป็นอันดับ 7 ของโลก  และใน 15 ลำดับแรก เป็นสหรัฐอเมริกา  กับยุโรปถึง 12 ประเทศ  โดยมี สิงค์โปร และการ์ต้า สอดแทรกเข้ามา (2017 IMF)  อธิบายง่ายๆอย่างนี้ว่าเมื่อคนมีรายได้มากขึ้น  ก็คงไม่ได้จับจ่ายใช้สอยแค่ปัจจัยสี่แบบความต้องการขึ้นพื้นฐาน  เมื่อมีรายได้มากขี้นก็อยากใช้เงินเพิ่มขึ้น  ก็เลยมองหาสินค้าและบริการที่มาตอบสนองทางด้านอื่นๆเพื่มขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมบรรเทิง  ท่องเที่ยว  และกีฬาเป็นตัวเลือกในการจับจ่ายใช้สอย 

                2.ปัจจัยที่สนับสนุนต่อมาคือ  จำนวนประชากร และ พฤติกรรมของผู้บริโภค ( Behavior)  ที่เปลี่ยนแปลงไป   โดยคำนึงถึงสุขภาพ  และ การหุ่นหรือร่างกายที่เหมาะสม  ซึ่งลักแซมเบิร์ก และ สวิสเซอร์แลนด์ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเป็นลำดับที่ 1 และ 2 แต่มีขนาดของตลาดกีฬาที่เล็กกว่าสหรัฐอเมริกามาก  ทั้งนี้เพราะจำนวนประชากรของสหรัฐอเมริกามีมากเป็นอันดับสามของโลกคือ 327 ล้านคน (วิกิพีเดีย)  โดยจากข้อมูลขนาดของตลาดอุตสาหกรรมกีฬา  ในอเมริกาเหนือคือสหรัฐอเมริกา และ แคนาดา เป็นหลักมีขนาดตลาดขยายตัว จากปี 2010 ที่ 49.99 พันล้านดอลลาร์  เป็น 76.51 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 (www.statista.com) ช่วงเวลา 10 ปีเติบโตเฉลี่ยถึง 53.05 เปอร์เซนต์ เฉลี่ยประมาณปีละ 5 เปอร์เซนต์  ซึ่งขนาดของตลาดกำลังอิ่มตัวเพราะว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ อเมริกา และยุโรป มีอัตราที่น้อยมากๆเมื่อเทียบกับ เอเชีย และอาเซียน  

                      ซึ่งหากมีประชากรมาก  และ พฤติกรรมผู้บริโภคนั้นสนใจในสุขภาพและหุ่นหรือร่างกายที่สมส่วนแข็งแรงแล้ว ก็จะยิ่งเร่งให้ขนาดของตลาดมีการเจริญเติบโตยิ่งขึ้นไป   ตลาดอุตสาหกรรมกีฬาในจีนขยายตัวเป็นอย่างมากและเชื่อกันว่าจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในไม่ช้า  ด้วยขนาดของประชากรที่มากกว่าถึง 1.3 พันล้านคนเศษ คิดเป็น ประมาณ 19 เปอร์เซนต์ของประชากรโลก   ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 8,643 เหรียญสหรัฐ มากกว่าประเทศไทยเสียอีกที่รายได้เฉลี่ยแค่ 6,591 เหรียญสหรัฐเท่านั้น  แถมอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ละปีก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  แม้จะไม่เติบโตเป็นตัวเลขสองหลักเหมือนเมื่อประมาณสิบปีก่อนหน้านี้ก็ตาม

                3.เสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์กีฬา  มีการพัฒนาให้เป็นแฟชั่นมากขึ้น  นอกจากประโยชน์ใช้สอยในด้านที่เกี่ยวข้องกับกีฬานั้นแล้วซึ่งเรียกว่าเป็นประโยชน์ใช้สอยหลัก  ก็ยังเติมแต่งแฟชั่น  สีสัน  ลูกเล่น ต่างๆ ลงไปในเสื้อผ้า รองเท้า และ อุปกรณ์กีฬา เพื่อเป็นการเติมเต็มประโยชน์ใช้สอยทางด้านอารมณ์อีกด้วย สังเกตุง่ายๆว่าในการแข่งขันเทนนิส มาราธอน  โยคะ จักรยาน  กอล์ฟ ฟิตเนส ฯลฯ จะมีดีไซนด์  สีสัน และลูกเล่นต่างๆ  รวมทั้งเพิ่มอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น (หรือจำเป็นน้อย) ในการเล่นกีฬานั้นๆเข้ามาทำให้นักกีฬามีชุดอุปกรณ์กีฬามากกว่าสองสามชุดเหมือนเช่นในอดีต  สามารถมีเป็นสิบ เป็นร้อย (อันนี้ก็มากไป) ทำให้ขนาดตลาดขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ  โดยมีสองปัจจัยข้างต้นสนับสนุนเพราะมีเงินเพิ่มมากขึ้น  ประชากรมากขึ้น  รายได้ต่อหัวมากขึ้น ออกกำลังกายมากขึ้น บ่อยขึ้น  ก็เลยจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นนั่นเอง

                4.ประการสุดท้ายก็คือเรื่องของสื่อสังคมต่างๆ (Social Media)  เพราะการเติบโตของสื่อสังคมและพฤติกรรมของมนุษย์เป็น Extrovert คนที่ชอบการสังสรรค์เป็นชีวิตจิตใจ ชอบแสดงออก  ง่ายๆคือชอบโชว์ นำเสนอ  พวกขาปาร์ตี้ เฮฮา มนุษยสัมพันธ์ดี เข้าได้กับทุกคน  เลยเป็นที่มาของเซลฟี่และโพสบนโลกสังคมออนไลน์  ก็เลยยิ่งทำให้ต้องจับจ่ายใช้สอยปัจจัยในข้อ 3  มากขึ้น บ่อยขึ้น นั่นเอง  เพราะในสมัยก่อนถ้าเราเล่นจ้อกกิ้ง  แค่กางเกงบอล และ เสื้อยืดเสื้อกล้ามสามสี่ชุด  กับรองเท้านันยางก็พอแล้ว  แต่จากปัจจัยในข้อสองและสามนี้ทำให้  เราต้องมีเครื่องทรงครบ  ทันสมัย  ตอบโจทย์ทั้งด้านการใช้งาน และ อารมณ์  แถมต้องไม่น้อยหน้าใครๆในจักรวาลนี้อีกต่างหาก...อมิตพุทธ.....





“เมืองกีฬา Sport City


            



                 “อุตสาหกรรมกีฬา” นับว่าเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่มี่ส่วนอย่างยิ่งในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ  นอกเหนือไปจากเพื่อเสริมสร้างสุขภาพและพลานามัย  รวมทั้งฝึกฝนให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬาตามปรัชญาการกีฬาในสมัยก่อน  เพราะทุกวันนี้ในประเทศทีมีฐานะทางเศรษฐกิจดีๆ  อุตสาหกรรมกีฬาและบันเทิง มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง   เพราะเมื่อประชาชนมีฐานะทางเศรษกิจดีขึ้นมีรายได้จับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น  ก็มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจัยสี่ตามทฤษฎีของแมสโลว์  จะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกามีขนาดของอุตสาหกรรมกีฬาที่ใหญ่มากๆ    และแนวคิดหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาก็คือ  “เมืองกีฬา”
“เมืองกีฬา” นั้นปัจจุบันประเทศไทยได้ประกาศให้มีเมืองกีฬา  โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬา แบบครบวงจร สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ  ซึ่งเมืองกีฬานี้มิใช่แค่มีการจัดการแข่งขันกีฬาทั้งภายในประเทศ  กีฬาระดับนานาชาติ เท่านั้น  ยังรวมไปถึงการเป็นสถานที่ฝึกซ้อม  เก็บตัวนักกีฬา  การส่งเสริมให้ประชาชนในจังหวัดมีการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ การแข่งขันกีฬาในจังหวัดในทุกระดับ   ทั้งนี้มีการผูกโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยเพราะนอกจากการแข่งขันกีฬาแล้ว  นักกีฬา ผู้ชม และ ผู้สนับสนุน ครอบครัว สามารถต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกด้วย
            ตามประกาศ “เมืองกีฬา (Sports City)” ปัจจุบัน มี 6 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, สุพรรณบุรี, บุรีรัมย์, อุดรธานีศรีสะเกษ และกระบี่   เมื่อดูรายชื่อทั้งหกจังหวัดแล้วคงไม่มีคำถามสำหรับ ชลบุรี เพราะมีการแข่งขันกีฬาเป็นประจำอยู่แล้วทั้งกีฬาบนบกและกีฬาทางน้ำรวมทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวในการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง   ส่วนบุรีรัมย์นั้นคงไม่มีใครปฏิเสธว่าเศรษฐกิจของบุรีรัมย์นั้น  เติบโตอย่างต่อเนื่องจาก “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” และ สนามแข่งรถช้างเซอร์กิต  ด้วยฝีมือการปั้นของลุงเนวินจนเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองกีฬาให้กับอีกหลายจังหวัด  บุรีรัมย์มีสถานที่ท่องเทียงมากและน่าสนใจพอสมควรผมเองเคยไปร่วมงานวิ่งบุรีรัมย์มาราธอนเมื่อปี 2017  อลังการ์งานสร้างจริง  แต่เชื่อหรือไม่ครับว่าโรงแรมดีๆมีไม่เพียงพอ  บริการรถสาธารณะไม่มีต้องเช่ารถจากสนามบินขับเอง  ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น  จะเป็นไปได้หรือไม่ครับในช่วงมีงานจะจัดให้มีรถสาธารณะแบบว่าจัดเป็นแพคเกจ  ตั๋วเครื่องบิน/หรือ รถยนต์  รวมที่พัก และรับส่งระหว่างสนามบิน ที่พัก  ที่แข่งขัน  ก็จะเป็นการส่งเสริมให้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่มากขึ้น  อาจจัดปีละสองครั้งผมก็ว่าน่าสนใจไม่น้อย  และลุงเนวินจะ  ผลักดันให้ได้รับการรับรองจากสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF) ให้บุรีรัมย์ มาราธอน เป็นงานวิ่งระดับบรอนซ์ เลเบิล และขยับเป็น ซิลเวอร์ และ โกลด์ ต่อไปในอนาคต  เทียบชั้น บอสตันมาราธอน  โตเกียวมาราธอน  ลอนดอนมาราธอน  ซึ่งปัจจุบันนี้ระดับโกล์มีอยู่  56 อีเวนต์  แน่อน จีนพี่ใหญ่ มีอยู่ถึง 5 อีเวนต์ คือ ปักกิ่ง  เซี่ยงไฮ้  กวาเจา เซียเหมิน และ ฉางโจว   ต้นเดือน พฤศจิกายนนี้ผมจะไปวิ่งที่ “ดีสนีย์รัน” แต่ก็แค่ฟันรันเพราะปัจจัยทางด้านสังขารนั่นเอง  แต่มีการจัดแบบแพคเกจไม่ต้องไปวิ่งวุ่นซื้อตั๋วเครื่องบิน  จองที่พัก  โรงแรม และ ลงทะเบียนแข่งขัน  ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นในการไปร่วมงานกิจกรรมดังกล่าว แถมได้เล่นเครื่องเล่น  ตลอดจนพักโรงแรมในดีสนีย์แลนด์อีกด้วย  เพราะถึงแม้จะเคยไปเที่ยวหลายครั้งแต่ไม่เคยได้พักโรแรมในดีสนีย์แลนด์เลย  แน่นอนราคาไม่ถูกจ่ายไป 30,000 บาท สามวันสองคืน  กับการบินไทย  (แต่ถ้าไปสายการบินอื่นๆราคาก็จะถูกลงมา)
                แต่สำหรับอีก 4 จังหวัด คือ  สุพรรณบุรี,  อุดรธานีศรีสะเกษ และกระบี่  นั้นผมมีความเป็นห่วงเพราะถนนสายนี้ยังคงอีกยาวไกล  เพราะการเป็นเมืองกีฬาไม่ใช่แค่ประ
กาศก็เป็นได้โดยอัตโนมัติ  การประกาศเป็นเพียงแค่แสดงจุดยืนและวัตถุประสงค์ในการพัฒนาจังหวัด  โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งนี้การขับเคลื่อนด้วยหน่วยงานราชการเองก็คงเป็นที่ทราบกันดีว่า  ไม่น่าจะสำเร็จได้ในเร็ววันต้องอาศัยภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา  ตลอดจนสมาคมกีฬาและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  ต้องทุ่มเทและสนับสนุนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  โดยมีเป้าหมายว่า “เมืองกีฬา” นี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในจังหวัดนั้นอีกด้วยนั่นเอง 

ขายรัย...ทำไมเราอิน (มาก)

                                                   เครดิตภาพจาก "เฟสบุคไทรสุก"           สองอาทิตย์ก่อนไปเห็นน้องคนหนึ่งที่เป็...